♦ การป้องกันการแตกร้าวขณะแข็งตัวในการเชื่อมสแตนเลส

การป้องกันการแตกร้าวขณะแข็งตัว ในการเชื่อมสแตนเลสกลุ่มเฟอร์ริติคและมาร์เทนซิติค
ในการเชื่อมโลหะ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโลหะชนิดใดก็ตาม โดยเฉพาะการเชื่อมซ่อมแซมชิ้นส่วนที่ชำรุด บ่อยครั้งที่พบว่าเมื่อทำการเชื่อมเสร็จเรียบร้อยแล้วบริเวณแนวเชื่อมเกิดการแตกร้าวทันที และลักษณะการแตกร้าวนั้นอาจจะมีทั้งการแตกตามความยาวของแนวเชื่อม หรือการแตกลักษณะขวางแนวเชื่อม หรือการแตกบริเวณขอบแนวเชื่อม ซึ่งลักษณะการแตกร้าวต่างๆ ที่กล่าวมานั้นล้วนมาจากสาเหตุมากมาย และเป็นปัญหาที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ไข
ความหมายของการแตกร้าวขณะแข็งตัว (Solidification Cracking) คือ การที่แนวเชื่อมเกิดการแตกร้าวทันทีหลังจากการเชื่อม โดยลักษณะการแตกร้าวนั้นจะเป็นการแตกบริเวณกี่งกลางแนวเชื่อมตามความยาวของแนวเชื่อม (ตามรูปที่ 1) และเมื่อทำการตรวจสอบโครงสร้างทางโลหะวิทยาแล้วจะพบว่าลักษณะการแตกนั้นจะเป็นการแตกระหว่างเกรนของโลหะ (Intergranular Cracking) มักจะพบได้บ่อยครั้งใน การเชื่อมโลหะต่างชนิด หรือในการเชื่อมโลหะที่ไม่ทราบส่วนผสมและใช้ ลวดเชื่อมไม่ถูกต้องกับ ชิ้นงานที่นำมาเชื่อม ในบางกรณีผู้ใช้งานใช้วิธีตัดเศษของชิ้นงานที่จะเชื่อมมาทำเป็นลวดเชื่อม ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ได้ผลสำหรับการเชื่อมโลหะบางชนิด เนื่องจากโลหะบางชนิดนั้นไม่สามารถที่จะใช้ตัวมันเองเป็นตัวประสานได้ เช่นในกรณีของการเชื่อมอลูมิเนียม 6061 [4]
ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการแตกร้าวขณะแข็งตัว(Solidification Cracking) คือ ส่วนผสมทางเคมีในโลหะชิ้นงานที่นำมาทำการเชื่อม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในโลหะนั้นจะประกอบไปด้วยส่วนผสมทางเคมีมากมายหลายชนิด และธาตุที่ผสมลงไปจะส่งผลให้โลหะนั้นมีคุณสมบัติทางเชิงกลที่เหมาะสมกับการใช้งานประเภทต่างๆ แต่ในทางกลับกันข้ามธาตุเหล่านั้นอาจส่งผลร้ายต่อความสามารถในการเชื่อมประสานได้ เช่น การผสมทองแดงลงในอลูมิเนียม เพื่อช่วยให้อลูมิเนียมนั้นมีความแข็งแรงสูงจนกระทั่งสามารถนำไปใช้ประกอบเป็นลำตัวเครื่องบินได้ แต่กลับทำให้อลูมิเนียมที่ผสมทองแดงนั้นทำการเชื่อมแทบไม่ได้เลย และนอกจากนั้นธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในโลหะอาจจะหลงเหลือมาจากขั้นตอนการผลิต เช่นธาตุซัลเฟอร์ หรือฟอสฟอรัส ที่หลงเหลืออยู่ในโลหะจำพวกสแตนเลส ซึ่งธาตุต่างๆ เหล่านี้ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการเชื่อมเช่นกัน
ในกรณีของการเชื่อมสแตนเลสประเภทออสเทนนิติค ธาตุที่มีอิทธิพลต่อการแตกร้าวขณะแข็งตัวคือซัลเฟอร์และฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุที่หลงเหลือมาจากการผลิตตามที่ได้กล่าวมาแล้ว (หรืออาจจะมีการเติมเพื่อเพิ่มความสามารถในการตบแต่ง เช่น เกรด 303S ) ในขณะที่ทำการเชื่อมธาตุเหล่านี้จะถูกความร้อนหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับชิ้นงานเชื่อม แต่เมื่อหยุดเชื่อมแล้ว แนวเชื่อมจะมีการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ลักษณะการแข็งตัวของแนวเชื่อมจะแข็งตัวจากขอบแนวเชื่อมไปยังกึ่งกลางแนวเชื่อมทำให้ธาตุซัลเฟอร์และฟอสฟอรัสถูกขับเข้าไปยังกึ่งกลางแนวเชื่อมและเนื่องจากธาตุจำพวกซัลเฟอร์และฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีจุดหลอมละลายต่ำ จึงทำให้บริเวณกึ่งกลางแนวเชื่อมมีการแข็งตัวหลังสุด และมีการสะสมของปริมาณซัลเฟอร์และฟอสฟอรัสตามบริเวณขอบเกรนของ โลหะสูง เมื่อแนวเชื่อมมีการหดตัวลง บริเวณขอบเกรนจะไม่สามารถที่จะรับความเค้นที่เกิดขึ้นจากการหดตัวได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการแตกร้าวขึ้น
สำหรับในกรณีของการเชื่อมโลหะประเภทสแตนเลส ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าการเกิดการแตกร้าวขณะแข็งตัว มักจะเกิดในกรณีที่ทำการเชื่อมโลหะต่างชนิดกัน เช่นการเชื่อมสแตนเลสติดกับเหล็กกล้าคาร์บอน หรือเชื่อมสแตนเลสต่างเกรด จากความรู้ทางโลหะวิทยาพบว่า วิธีหนึ่งที่สามารถแก้ไขการแตกร้าวขณะแข็งตัวจะทำได้โดยการควบคุมส่วนผสมทางเคมีของเนื้อเชื่อม จากการศึกษาวิจัยพบว่าหากแนวเชื่อมนั้นมีปริมาณเฟอร์ไรต์ *อยู่ประมาณ 5-10 เปอร์เซนต์จะทำให้ลดโอกาสการเกิดการแตกร้าวขณะแข็งตัวได้ [1] เนื่องจากเฟอร์ไรต์นั้นมีความสามารถในการละลายธาตุซัลเฟอร์และฟอสฟอรัสได้ดี จึงทำให้ปริมาณซัลเฟอร์และฟอสฟอรัสที่ถูกขับออกมาในขณะที่แนวเชื่อมแข็งตัวมีปริมาณน้อยลงจึงทำให้โอกาสที่จะเกิดการแตกร้าวจึงลดลง แต่อย่างไรก็ตามหากมีปริมาณเฟอร์ไรต์มากกว่านี้จะทำให้สแตนเลสนั้นสูญเสียความต้านทานต่อการกัดกร่อนได้ ดังนั้นในการเชื่อมสแตนเลสต่างเกรดจะต้องมีการทำนายปริมาณเฟอร์ไรท์ที่คาดว่าจะได้รับในแนวเชื่อมนั้นเสียก่อน ซึ่งวิธีที่นิยมในการทำนายปริมาณเฟอร์ไรท์ก่อนที่จะทำการเชื่อมคือการใช้ไดอะแกรม ที่เรียกว่าเชลฟเลอร์ไดอะแกรม (Schaeffler Diagram)
การใช้ไดอะแกรมนี้ผู้ใช้จะต้องทราบส่วนผสมทางเคมีที่แน่นอนของชิ้นงานที่จะเชื่อมทั้งสองชิ้น รวมทั้งส่วนผสมทางเคมีของลวดเชื่อม เพื่อนำค่าส่วนผสมทางเคมีของลวดเชื่อมและชิ้นงานมาทำการคำนวณค่าโครเมียมและนิคเกิลเทียบเท่า (Chromium and Nickle Equivalent) ตามสูตรดังนี้
เพื่อให้เป็นที่เข้าใจยิ่งขึ้นขอยกตัวอย่างการทำนายปริมาณเฟอร์ไรต์ในการเชื่อมสแตนเลสเกรด 304 กับเหล็กกล้าคาร์บอน AISI 1025 โดยใช้ลวดเชื่อมสแตนเลส E 309L –16 ดังนี้
จากการคำนวณค่าโครเมียมและนิคเกิลเทียบเท่าของชิ้นงานเชื่อมทั้งสองและลวดเชื่อม สรุปได้ดังนี้
หลังจากนั้นนำค่าที่ได้ไปพล็อตลงในไดอะแกรมโดยพล็อตจุดของชิ้นงานชิ้นแรกและชิ้นงานชิ้นที่สอง หลังจากนั้นลากเส้นตรงเชื่อมต่อจุดทั้งสอง ทำการหาจุดกึ่งกลางระหว่างเส้นสองเส้น ณ จุดกึ่งกลางนี้จะเป็นจุดที่บอกให้ทราบว่าหากทำการเชื่อมชิ้นงานทั้งสองโดยเชื่อมแบบไม่เติมลวดเชื่อมแล้วนั้น โครงสร้างของแนวเชื่อมที่ได้จะเป็นโครงสร้างมาร์เทนไซต์ (Martensite)* ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เปราะและแตกง่าย และเมื่อทำการเชื่อมแบบเติมลวดเชื่อมผู้ใช้จะต้องทำการพล็อตจุดของลวดเชื่อม แล้วลากเส้นตรงจากจุดลวดเชื่อมไปยังจุดกึ่งกลางของเส้นที่เชื่อมระหว่างชิ้นงานทั้งสอง หลังจากนั้นคำนวณหาปริมาณการเจือจาง (Dilution) ของชิ้นงานเชื่อมเป็นเปอร์เซนต์ โดยค่าทั่วๆ ไปจะใช้ประมาณ 30 % จะพบว่าจุดที่ได้จะอยู่บริเวณเส้นที่แสดงปริมาณเฟอร์ไรต์ 5 % จึงหมายความว่าปริมาณเฟอร์ไรต์ที่คาดว่าจะได้หลังจากการเชื่อม ในการเชื่อมสแตนเลสเกรด 304 กับเหล็กกล้าคาร์บอน AISI 1025 ประมาณ 5 %
ปริมาณการเจือจางที่ต่างกันจะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณเฟอร์ไรต์ที่ได้ เมื่อสังเกตในตัวอย่างที่กล่าวมาจะพบว่าหากปริมาณการเจือจางเพิ่มขึ้นเป็น 50 % จะทำให้ปริมาณเฟอร์ไรต์ในเนื้อเชื่อมลดลงเป็นศูนและโครงสร้างที่ได้จะเป็นโครงสร้างออสเทนไนท์* 100 % การคำนวณปริมาณการเจือจาง (Dilution) จะคิดจากปริมาณของชิ้นงานเชื่อมที่ละลายรวมกับเนื้อลวดเชื่อม เชลฟเลอร์ไดอะแกรมนั้นให้ความแม่นยำในการทำนายปริมาณเฟอร์ไรต์ในแนวเชื่อมสำหรับสแตนเลสชนิดออสเทนนิติคทั่วไป และใช้ได้ดีเฉพาะกระบวนการเชื่อมแบบไฟฟ้าอาร์คเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่ส่วนผสมของโลหะนั้นมีปริมาณไนโตรเจนผสมอยู่สูง เนื่องจากว่าในสูตรที่ใช้คำนวณค่านิคเกิลเทียบเท่านั้นไม่ใช้ปริมาณของไนโตรเจนมาคำนวณ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของไดอะแกรมนี้ และในปัจจุบันได้มีผู้เสนอไดอะแกรมชนิดอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้ทำนายปริมาณเฟอร์ไรต์ได้แม่นยำกว่าเช่น ดีลองไดอะแกรม หรือ WRC1988 และ WRC1992 ไดอะแกรม แต่อย่างไรก็ตามในไดอะแกรมแต่ละชนิดก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเลือกใช้ไดอะแกรมต่างๆ นั้นต้องพิจารณาถึงกระบวนการเชื่อมที่ใช้ และชนิดของสแตนเลสที่จะนำมาทำการเชื่อมด้วย
แม้ว่าดีลองไดอะแกรม หรือ WRC1988 และ WRC1992 ไดอะแกรม จะถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีในเชลฟเลอร์ไดอะแกรม แต่ไดอะแกรมเหล่านั้นจะให้ผลดีสำหรับโลหะผสมสูงหรือออสเทนนิติคแมงกานีสสูงหรือสแตนเลสประเภทดูเพล็ก แต่จะไม่ครอบคลุมถึงการเชื่อมสแตนเลสประเภทเฟอร์ริติคและมาร์เทนซิติค ซึ่งหากว่ามีการเชื่อมชิ้นงานที่เป็นสแตนเลสกลุ่มเฟอร์ริติคและมาร์เทนซิติค จะสามารถใช้ได้แต่เพียงเชลฟเลอร์ไดอะแกรมเท่านั้นและจะไม่สามารถบอกปริมาณเฟอร์ไรต์ที่แน่นอนได้ ต้องอาศัยการประมาณค่าเนื่องจากไม่มีการแบ่งค่าปริมาณเฟอร์ไรต์ในขอบเขตที่เป็นมาร์เทนไซต์ + เฟอร์ไรต์ ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นไดอะแกรมชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ทำนายโครงสร้างหรือทำนายปริมาณเฟอร์ไรต์ในแนวเชื่อมสแตนเลสชนิดเฟอร์ริติคและมาร์เทนซิติค ดังรูปที่ 5 โดยไดอะแกรมใหม่นี้ได้ขยายบริเวณขอบเขตที่เป็นโครงสร้างเฟอร์ไรต์+มาร์เทนไซต์ในเชลฟเลอร์ไดอะแกรม และใช้สูตรคำนวณปริมาณโครเมียมและนิคเกิลเทียบเท่าใหม่ เพื่อให้ค่าที่คำนวณได้อยู่ในขอบเขตของไดอะแกรม
นอกจากนั้นคณะผู้วิจัยยังได้ศึกษาถึงธาตุผสมที่มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางโลหะวิทยาบริเวณขอบของเฟส ( Phase boundaries ) รวมถึงบริเวณการรวมตัวของออสเทนไนท์ โดยใช้เทคนิค Button Melting และ Quantitative Metallography รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิค Linear Regression Analysis สำหรับไดอะแกรมที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้ผ่านการทดสอบจากการเชื่อมอาร์คไฟฟ้ากับสแตนเลสชนิดมาร์เทนซิติคและเฟอร์ริติคทั่วไป และได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าทำนายโครงสร้างได้แม่นยำ โดยมีส่วนผสมทางเคมีอยู่ในขอบเขตของไดอะแกรมที่สร้างใหม่ [2]
จากการทดลองเปรียบเทียบใช้ไดอะแกรมที่สร้างใหม่ และเชลฟเลอร์ไดอะแกรมหาปริมาณเฟอร์ไรต์ในการเชื่อมชิ้นงาน สแตนเลสเฟอร์ริติคเกรด 429 กับสแตนเลสมาร์เทนซิติค เกรด 403 โดยใช้ลวดเชื่อม ER430-xx และปริมาณการเจือจาง ( Dilution ) ประมาณ 30 % พบว่าไดอะแกรมที่สร้างใหม่ จะทำนายว่าปริมาณเฟอร์ไรต์ที่จะมีในแนวเชื่อมนี้ประมาณ 71 % ในขณะที่ เชลฟเลอร์ไดอะแกรมไม่สามารถที่จะใช้ประมาณค่าเฟอร์ไรต์ได้
ข้อจำกัดของ ไดอะแกรมที่สร้างใหม่
ไดอะแกรมที่สร้างใหม่นี้สามารถใช้ได้ดีกับการเชื่อมด้วยกรรมวิธีการเชื่อมอาร์คไฟฟ้า ส่วนการเชื่อมด้วยวิธีการที่มีความเข้มของพลังงานสูง เช่น Laser Beam Welding หรือ Electron Beam Welding จะให้อัตราการเย็นตัวที่เร็วซึ่งจะทำให้ลักษณะการแข็งตัวและการเปลี่ยนแปลงเฟสต่างออกไปจากการเชื่อมไฟฟ้าอาร์ค ทำให้อัตราความสัมพันธ์ของเฟอร์ไรต์และมาร์เทนไซต์ต่างกันออกไป และอาจจะทำให้มีออสเทนไนท์ได้ในสแตนเลสบางเกรด
จากข้อจำกัดในการทดลองทำให้บริเวณขอบเขตของไดอะแกรมจะถูกจำกัดในช่วงค่าหนึ่ง ดังนั้นในกรณีที่การคำนวณส่งผลให้ค่าโครเมียมเทียบเท่าและนิคเกิลเทียบเท่า มีค่าอยู่นอกไดอะแกรม อาจทำให้ผลการทำนายผิดพลาดได้ และไม่แนะนำให้ใช้ทำนายโครงสร้างหากการคำนวณค่านิคเกิลเทียบเท่าได้ต่ำกว่า 0.5 ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของไดอะแกรมชนิดใหม่ นี้คือปริมาณของธาตุในโลหะจะต้องอยู่ในขอบเขตดังนี้ [3]
จะเห็นว่าไดอะแกรมชนิดใหม่นี้ไม่เหมาะกับการทำนายโครงสร้างโลหะที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำเช่นกันและ ไดอะแกรม จะให้ผลการทำนายได้แม่นยำในสแตนเลสเกรดมาร์เทนซิติคและเฟอร์ริติคทั่วไป
ประโยชน์ของไดอะแกรมที่สร้างใหม่
สแตนเลสชนิดเฟอร์ริติค มีความสามารถในการตบแต่งด้วยเครื่องมือกล ( machineabilty) นำความร้อนได้สูง มีการขยายตัวเนื่องจากความร้อนต่ำ และต้านทานต่อการกัดกร่อน แต่มาร์เทนซิติคสแตนเลสนั้นจะให้ความแข็งแรงสูงและต้านทานต่อการเสียดสีได้ดี ในการใช้งานทั้งสแตนเลสเกรดมาร์เทนซิติคและเฟอร์ริติคจึงต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะงานที่ต้องมีการเชื่อมประสาน เพราะอาจจะทำให้คุณสมบัติทางเชิงกลลดลงอย่างมาก สแตนเลสจำพวกเฟอร์ริติคหรือโครงสร้างลักษณะที่เป็นเฟอร์ไรต์เมตริกซ์นั้น หากมีมาร์เทนไซต์อยู่ในสแตนเลสเฟอร์ริติคชนิดที่มีโครเมี่ยมต่ำจะทำให้ความต้านทานต่อการกัดกร่อนลดลง ดังนั้นจึงต้องควบคุมปริมาณมาร์เทนไซต์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
ในทางกลับกัน มีรายงานว่าหากมีปริมาณของเฟอร์ไรต์อยู่ในมาร์เทนไซต์เมตริกซ์ จะทำให้ความเหนียวของโลหะลดลงเมื่อมีจุดเริ่มของรอยแตก เนื่องจากความไวต่อรอยแตกของเฟสเดลต้าเฟอร์ไรต์ (d-Ferrite) และยังพบว่าสามารถเกิดการแตกขณะแข็งตัว ( Solidification Cracking ) ในสแตนเลสมาร์เทนซิติคบางเกรดเมื่อมีปริมาณของ d-Ferrite หลงเหลืออยู่ที่อุณหภูมิห้อง เกินกว่า 25 % และการทำงานที่อุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดการเปราะแตกได้ ซึ่งมีสาเหตุจากแอลฟาหรือซิคมาเฟส (a’ or s phase)
ดังนั้น เพื่อให้มีคุณสมบัติทางกลที่ดีและลดโอกาสในการเกิดการแตกร้าวในขณะแข็งตัว จึงควรที่จะให้มีปริมาณเฟอร์ไรต์ในมาร์เทนไซต์หลงเหลือในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ ความสำเร็จในการเชื่อมสแตนเลสประเภทมาร์เทนซิติคและเฟอร์ริติคจึงขึ้นอยู่กับการควบคุมโครงสร้างจุลภาค และวิธีการที่จะทำนายโครงสร้างที่จะได้รับ [2] ดังนั้นไดอะแกรม ที่สร้างใหม่ นี้ จะสามารถใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่จะทำให้การเชื่อมสแตนเลสประเภทมาร์เทนซิติคและเฟอร์ริติค ประสบความสำเร็จ
สรุป
- การใช้โลหะเติม(ลวดเชื่อม) ที่ไม่ถูกต้องในการเชื่อมโลหะต่างชนิดกัน อาจส่งผลให้เกิดการแตกร้าวภายหลังจากการเชื่อมได้ และการเชื่อมที่ประสบความสำเร็จต้องคำนึงถึงส่วนผสมทางเคมีของชิ้นงานที่ทำการเชื่อมและส่วนผสมทางเคมีของลวดเชื่อมที่ใช้ว่าเหมาะสมและเข้ากันได้หรือไม่
- ธาตุผสมต่างๆที่เติมลงไปในโลหะชิ้นงานเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของโลหะ หรือธาตุผสมที่ไม่สามารถขจัดออกได้หมดในระหว่างกระบวนการผลิต เช่นซัลเฟอร์หรือฟอสฟอรัสในสแตนเลส อาจจะส่งผลร้ายต่อความสามารถในการเชื่อม การที่มีปริมาณเฟอร์ไรต์ในเนื้อเชื่อมประมาณ 5-10 % จะสามารถช่วยลดโอกาสการเกิดการแตกร้าวในขณะที่แนวเชื่อมแข็งตัวได้
- เชลฟเลอร์ไดอะแกรมสามารถใช้ทำนายโครงสร้างแนวเชื่อมของการเชื่อมสแตนเลสประเภทออสเทนนิติคโดยการเชื่อม แบบไฟฟ้าอาร์คด้วยลวดเชื่อมไฟฟ้าหุ้มฟลักซ์ และมีข้อจำกัดหากปริมาณธาตุผสมในสแตนเลสมีปริมาณน้อย และเมื่อสแตนเลสนั้นมีไนโตรเจนอยู่ในปริมาณสูง
- ไดอะแกรมที่พัฒนาใหม่มีความแม่นยำสูง เหมาะสำหรับการใช้ทำนายโครงสร้างแนวเชื่อมของการเชื่อมสแตนเลสชนิดเฟอร์ริติคและมาร์เทนซิติค โดยการเชื่อมแบบไฟฟ้าอาร์ค ส่วนการเชื่อมด้วยวิธีการที่มีความเข้มของพลังงานสูง เช่น Laser Beam Welding หรือ Electron Beam Welding จะทำให้อัตราความสัมพันธ์ของเฟอร์ไรต์และมาร์เทนไซต์ต่างกันออกไป และอาจจะมีออสเทนไนท์หลงเหลือได้ในสแตนเลสบางเกรด
นิยามศัพท์
- เฟอร์ไรต์ (Ferrite) เป็นชื่อโครงสร้างทางโลหะวิทยา เป็นโครงสร้างที่อ่อนและเหนียว โครงสร้างลักษณะนี้จะพบมากในเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ
- มาร์เทนไซต์ (Martensite) เป็นชื่อโครงสร้างทางโลหะวิทยา เป็นโครงสร้างที่แข็ง และ เปราะแตกง่ายเมื่อได้รับแรงกระทำ เป็นโครงสร้างที่สามารถทำการชุบแข็งได้โครงสร้างลักษณะนี้จะพบมากในเหล็กกล้าคาร์บอนสูง
- ออสเทนไนท์ (Austenite) เป็นชื่อโครงสร้างทางโลหะวิทยา เป็นโครงสร้างที่อ่อนและเหนียว เป็นโครงสร้างที่แม่เหล็กดูดไม่ติด และจะพบมากในสแตนเลสกลุ่มออสเทนนิติค นอกจากนั้นยังพบได้ในเหล็กกล้าคาร์บอนที่ระดับอุณหภูมิสูง
เรียบเรียงโดย ชัชชัย อินนุมาตร
เอกสารอ้างอิง
- Kou, S.1987. Welding Metallurgy. New York, N.Y., John Wiley and Sons.pp.218
- M.C. Balmforth and J.C.Lippold, 1998. A Preliminary Feritic-Martensitic Stainless Steel Constitution diagram.Welding Journal 77(1) : 1-s to 7-s
- M.C. Balmforth and J.C.Lippold, 1998. A New Feritic-Martensitic Stainless Steel Constitution diagram.Welding Journal 79(12) : 339-s to 345-s
- Aluminum Welding, ASM Handbook.,Volume 6, ASM International, Matetials Park, Ohio.