• English

♦ อันตรายจากควันเชื่อม

♦ อันตรายจากควันเชื่อม

 

อันตรายจากควันเชื่อม
สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ(NIOSH) ระบุว่ามีแรงงานมากกว่า 400,000 คนในสหรัฐอเมริกา ที่ทำงานเกี่ยวกับการเชื่อม ซึ่งจากการสำรวจพบว่าแรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงกับโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางประสาท และระบบสืบพันธุ์ที่รุนแรง โดยมีข้อมูลอ้างอิงจากบทความต่างๆ ต่อไปนี้

ในปี 2003 NIOSH ตีพิมพ์เรื่อง ผลกระทบของการเชื่อมต่อสุขภาพของแรงงาน
จากบทความ “ผลกระทบของการเชื่อมต่อสุขภาพของแรงงาน”  จากการสำรวจข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ช่างเชื่อมมีการอาการของโรคหลอดลมอักเสบ ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆอีกจำนวนมาก

ข้อมูลเพิ่มเติม
จากบทความข้างต้นสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ควันจากการเชื่อมทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด และยังทำลายระบบประสาทด้วย เพราะควันเชื่อมมีส่วนผสมของสารอันตรายต่างๆ เช่น นิกเกิล โครเมียม และแมงกานีส  ซึ่งนิกเกิลและโครเมียมจัดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และการสัมผัสหรือได้รับสารแมงกานีสเป็นเวลานานๆ มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรค Parkinson อีกด้วย

• จากการศึกษาทางเคมีวิทยานั้น พบว่าควันเชื่อมส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท ทำลายความปกติของชั้นผิวหนัง เกิดมะเร็งปอด และสร้างความผิดปกติต่อระบบสืบพันธุ์

• การศึกษาทางเคมีวิทยาโดยการทดสอบปฏิกิริยาทางชีวเคมีเมื่อมีการสัมผัสควันเชื่อมในระดับโมเลกุล ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการทดลองดังกล่าวมีผลต่อเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและเนื้อเยื่อ และอาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอก ทำให้เส้นประสาทเสียหาย เกิดความไม่ปกติต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะ

The American Federation of State, County, and Municipal Employees ( AFSCME) มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอันตรายจากการเชื่อม ซึ่งกล่าวถึงปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยของการเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมประสาน การบัดกรี และการตัดโลหะ ควันเชื่อมมีส่วนประกอบอนุภาคของสารที่เล็กมากๆ มีก๊าซพิษปนอยู่หลายชนิด เช่น โครเมียม นิกเกิล สารหนู แร่ใยหิน แมงกานีส ซิลิกา เบริลเลียม แคดเมียม ไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์  โคบอลต์  ทองแดง ตะกั่ว โอโซน ซีลีเนียมและสังกะสี ซึ่งเป็นสารพิษต่อร่างกาย

จากผลการวิจัยพบว่าช่างเชื่อมที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าช่างเชื่อมที่ไม่สูบบุหรี่

ผลกระทบจากควันเชื่อมในระยะสั้น
เมื่อได้รับสารพิษจากควันเชื่อมในระยะสั้นจะทำให้เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก ไอ หอบ อ่อนเพลีย คลื่นไส้และมีอาการขมคอเหมือนมีเศษโลหะอยู่ในลำคอ อาการเหล่านี้จะเกิดหลังจากได้รับควันเชื่อม 4-12 ชั่วโมงเมื่อได้รับควันเชื่อม
นอกจากนี้ควันเชื่อมยังทำให้เกิดการระคายเคืองตา จมูก ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ หอบ หายใจถี่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ และควันเชื่อมยังมีผลกระทบกับระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร และอาเจียน

การเชื่อมบางชนิดจะมีสารที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายแม้จะได้รับในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น แคดเมียม ซึ่งเป็นสารอันตรายมีพิษสูงสามารถทำให้เสียชีวิตได้ในทันที

รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เกิดจากปฏิกิริยาในการเชื่อมรวมกับก๊าซออกซิเจนและไนโตรเจนในอากาศจะทำให้เกิดก๊าซโอโซนและไนโตรเจนออกไซด์ ทำให้ระคายเคืองจมูกและคอ ก่อให้เกิดมะเร็งปอด หากได้รับในปริมาณที่มากเกินทำให้ถึงตายได้

รังสีอัลตราไวโอเลตสามารถทำปฏิกิริยากับไฮโดรคาร์บอนคลอรีน เช่น สาร Trichlorethylene (เป็นสารละลายที่ใช้ในการล้างชิ้นงานโลหะ) เมทิลีนคลอไรด์(ใช้เป็นตัวทำละลาย สี ทำน้ำยาทำความสะอาด) และ Perchlorethylene (ใช้เป็นสารทำความสะอาด) ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดสารฟอสจีน ซึ่งเป็นสารอันตรายร้ายแรง เมื่อได้รับสารนี้จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หนาวสั่น และไอภายในเวลา 5-6 ชั่วโมง ดังนั้นการอยู่ภายในรัศมี 200 ฟุตของการล้างชิ้นงานจากคราบน้ำมันหรือการใช้ตัวทำละลายเหล่านี้ ไม่ควรทำการเชื่อมอาร์คเป็นอย่างยิ่ง

ผลกระทบจากควันเชื่อมระยะยาว
จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าแรงงานที่เกี่ยวข้องกับงานเชื่อม งานบัดกรีและงานตัดโลหะ มีความความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีกที่จะเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งท่อปัสสาวะ เพราะควันเชื่อมประกอบด้วยสารก่อมะเร็งจำนวนมากเช่น แคดเมียม นิกเกิล เบริลเลียม โครเมียม และ สารหนู

นอกจากนี้ช่างเชื่อมยังประสบปัญหาระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง โรค Pneumoconiosis ( ซึ่งเป็นโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นอนุภาคเล็กเข้าไป) โรค Silicosis ( เกิดจากการสัมผัสกับสารซิลิกาในปริมาณมากเกินไป) และโรค Siderosis (เป็นโรคที่เกิดจากการสูดฝุ่นเหล็กออกไซด์เข้าไปในปอด)

ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากควันเชื่อม ได้แก่ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง สูญเสียการได้ยิน กระเพาะอาหารอักเสบ ทางเดินอาหารอักเสบ และเป็นแผลในลำไส้เล็ก

ควันเชื่อมยังก่อให้เกิดความเสี่ยงปัญหาของระบบสืบพันธุ์ จากการศึกษาพบว่าช่างเชื่อมโดยเฉพาะช่างเชื่อมสแตนเลส สเปิร์มจะอ่อนแอกว่าช่างเชื่อมอื่นๆ และยังพบว่ามีอัตราการแท้งบุตรมากขึ้นในหมู่ช่างเชื่อมและคู่สมรส ช่างเชื่อมหรือช่างตัดโลหะที่ทำงานกับโลหะที่เคลือใยหิน มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอดจากแร่ใยหินมากกว่า ซึ่งแรงงานเหล่านี้ควรได้รับการอบรมและมีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมก่อนที่จะทำการเชื่อม และอันตรายเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อช่างเชื่อมทำการเชื่อมงานในที่ที่อับอากาศ

ความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน
จากการวิจัยที่ผ่านมาล่าสุดได้แสดงให้เห็นว่าควันเชื่อมเกี่ยวข้องกับโรคพาร์กินสันหรือโรคทางระบบประสาทที่ผลต่อความสามารถทางร่างกายและจิตใจ  โดยแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น สารพิษที่ทำให้เกิดโรคนี้คือแมงกานีส โดยโรคนี้จะมีอาการหลักๆคือ ร่างกายสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อเกร็ง แขนและขาตึง พูดตะกุกตะกัก 25% ของอาการที่พบบ่อยที่สุดคืออาการสั่น รองลงมาจะเป็นอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ ท้องผูก ภาวะสมองเสื่อม และปัญหาเกี่ยวกับการพูด การหายใจ การกลืนอาหาร การได้รับแมงกานีสในปริมาณที่สูงเกินไปทำให้สูญเสียความทรงจำและลดความสามารถในการขับขี่ลงได้

การลดอันตรายจากควันเชื่อม
AFSCME กล่าวว่าก่อนที่จะเริ่มทำการเชื่อมต้องมีการระบุอันตรายที่เกิดจากงานเชื่อมไว้ในคู่มือปฏิบัติงานเชื่อม โดยบอกถึงอันตรายที่จะขึ้นจากการเชื่อมแต่ละชนิด รวมถึงบริเวณที่เชื่อมด้วยว่าเป็นพื้นที่เปิดโล่งหรือเป็นพื้นที่อับอากาศ และต้องมีเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของวัสดุ (MSDS) เพื่อระบุว่าวัสดุนั้นอันตรายที่ใช้ในการเชื่อม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เชื่อมได้รู้ถึงอันตรายกับสิ่งที่เขากำลังเชื่อมอยู่ก่อนที่จะเริ่มทำงาน เช่น  ควันเชื่อมที่เกิดจากการเชื่อมชิ้นงานที่ชุบด้วยแคดเมียมอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในเวลาอันสั้น หลังจากระบุอันตรายแล้วจะต้องปฏิบัติและควบคุมอย่างเคร่งครัด

หาวัสดุทดแทนที่เป็นอันตรายน้อยลง  โดยใช้วัสดุที่ไม่มีแคดเมียมผสมอยู่ใน ลวดเชื่อม สวมถุงมือเพื่อป้องกันอันตรายจากความร้อนในการเชื่อม

จัดพื้นที่การทำงานให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ติดตั้งระบบระบายอากาศเพื่อพช่วยดูดควันและก๊าซพิษออกไป  ซึ่่งจะเป็นวิธีการลดอันตรายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่น หน้ากากเชื่อม ถุงมือเชื่อม สำหรับการเชื่อมอาร์ค การติดตั้งระบบระบายอากาศสามารถทำได้โดยติดตั้งเครื่องดูดควัน ซึ่งจะลดการรับสารพิษจากควันเชื่อมได้ถึง 70%  โดยวัสดุที่ใช้ทำระบบระบายอากาศหรือระบบดูดควันควรทำมาจากวัสดุกันไฟ

การระบายอากาศทั่วไปอาจทำเป็นช่องระบายอากาศที่หลังคา เปิดประตูและหน้าต่าง ติดพัดลมที่หลังคา เพื่อให้พื้นที่การทำงานมีอากาศถ่ายเทสะดวก

ซึ๋งการระบายอากาศจะเป็นประโยชน์มากเมื่อนำมาใช้ในพื้นที่ทำงานเชื่อมที่มีพื้นที่ปิดหรือในพื้นที่อับอากาศ

อ้างอิง ; http://www.thefabricator.com/article/safety/welding-fume-health-hazards

 

error: Content is protected !!