♦ กระบวนการเชื่อมใต้ฟลักซ์ (SAW)
กระบวนการเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ (Submerge Arc Welding-SAW)
การเชื่อมซับเมิร์จ มีหลักการทำงานโดยใช้การป้อนอิเลคโตรดเข้าสู่ชิ้นงานด้วยอัตราเร็วที่ถูกกำหนดไว้ และแท่นของตัวป้อนจะมีการเคลื่อนที่ไปตามแนวเชื่อม โดยอาจจะเป็นการควบคุมแบบอัตโนมัติหรือแบบ Manualก็ได้ ในระหว่างที่ทำการเชื่อมจะมีการป้อนฟลักซ์เข้าไปบริเวณรอบๆ อิเลคโตรด เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณที่ทำการเชื่อม ซึ่งในช่วงดังกล่าวความร้อนจากการอาร์คจะหลอมละลายบางส่วนของฟลักซ์รวมเข้ากับปลายอิเลคโตรด และผิวหน้าของชิ้นงานเกิดเป็นบ่อหลอมโลหะขึ้น ซึ่งจะทำให้ฟองอากาศหลุดออกจากบ่อหลอมโลหะ บริเวณเหนือรอยเชื่อมที่ปกคลุมด้วยฟลักซ์ จะได้รับการป้องกันการปนเปื้อนของบรรยากาศเข้าสู่บ่อหลอมโลหะ และฟลักซ์ยังช่วยละลายสิ่งเจือปนในโลหะชิ้นงานและอิเลคโตรด ให้เกิดการลอยตัวขึ้นที่ผิวด้านบนของรอยเชื่อมนอกจากนั้นฟลักซ์ ที่เติมเข้าไปอาจช่วยเติมหรือกำจัดโลหะบางชนิดได้ และเมื่อรอยเชื่อมเกิดการเย็นตัวลง ฟลักซ์ที่ผิวหน้าจะแข็งตัวเพื่อทำหน้าที่ปกคลุมรอยเชื่อมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องกำจัดฟลักซ์ ที่ผิวหน้าออกก่อนที่จะทำการเชื่อมในรอบถัดไป ระบบการเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ แสดงดังรูปที่
รูปที่ 1 ระบบ การเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ (source : http://www.twi.co.uk )
วิธีการใช้งาน
การเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ สามารถที่จะใช้ทำการเชื่อมได้ 3 แบบคือ กึ่งอัตโนมัติ , อัตโนมัติ , และเครื่องจักร ดังนี้
- การเชื่อมแบบกึ่งอัตโนมัติ วิธีนี้จะทำการป้อนอิเลคโตรดโดยใช้ตัวป้อน (Wire Feeder) และป้อนฟลักซ์ จาก ถุงบรรจุฟลักซ์ (Hopper) โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงเข้าสู่หัวจ่าย ฟลักซ์ การเชื่อมแบบนี้จะใช้อิเลคโตรดที่มีขนาดเล็กและความเร็วในการเชื่อมปานกลาง และในการควบคุมการเคลื่อนที่อาจทำด้วยมือหรือใช้มอเตอร์ขับก็ได้
- การเชื่อมแบบอัตโนมัติ จะทำการเชื่อมโดยใช้เครื่อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคนช่วยปรับแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น
- การเชื่อมโดยใช้เครื่อง จะเหมือนแบบอัตโนมัติ แต่ต้องมีคนในการควบคุมตำแหน่งที่จะเชื่อม, เปิด , ปิด ,ปรับอัตราเร็วในการเชื่อม
อุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับ การเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ มีส่วนประกอบหลัก 5 อย่างคือ
- ระบบจ่ายไฟ (Power Supply)
- ระบบป้อนอิเลคโตรด
- ระบบจ่ายฟลักซ์
- ระบบควบคุมการเคลื่อนที่
- ระบบควบคุมกระบวนการ
นอกจากนี้อาจมีอุปกรณ์เพิ่มเติมอื่น ๆ ได้อีกเช่น ระบบการดูดฟลักซ์ กลับมาใช้ใหม่ หรือระบบควบคุมตำแหน่ง
รูปที่ 2. ส่วนประกอบของระบบการเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ
( source : http://www.weldguru.com )
ระบบจ่ายไฟ (Power Supply) มีหลายชนิดได้แก่
1. ระบบ DC
1.1. DC Constant Voltage (CV) เหมาะสำหรับการเชื่อมแบบกึ่งอัตโนมัติที่ช่วงกระแส 300 – 600 A และอิเลคโตรดขนาด 1.6 , 2.0 และ 2.4 มม. หากถ้าใช้กับการเชื่อม แบบอัตโนมัติจะใช้ที่ช่วง 300 – 1000 A และอิเลคโตรดขนาด 2.4-6.4 มม. อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ที่กระแสสูงกว่า 1,000 A เนื่องจากจะเกิดการ Arcblow (ดูในบทความเรื่องการเชื่อมไฟฟ้า – SMAW) อย่างรุนแรง โดยทั่วไปนิยมใช้ CV ในการเชื่อมโลหะที่มีลักษณะบางและต้องการความเร็วสูง
1.2. DC Constant Current (CC) ใช้ที่กระแสไม่เกิน 1,500 A ระบบนี้จะต้องมีตัวปรับแรงดันเพื่อควบคุมอัตราเร็วในการป้อนอิเลคโตรดในขณะที่แรงดันในการอาร์คมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยให้ความยาวในการอาร์คมีค่าคงที่ แต่เนื่องจากระบบการควบคุมแบบนี้มีราคาแพงจึงนิยมใช้การควบคุมอัตราการป้อนอิเลคโตรด แบบความเร็วคงที่กับ CV แทน
1.3. CV /CC ระบบนี้สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ได้ทั้งแบบ CV และ CC โดยสามารถใช้ได้ที่กระแสมากที่สุด 1,500 A แต่โดยทั่วไปนิยมใช้ที่กระแสต่ำกว่า 650 A
2. ระบบ AC
ระบบนี้นิยมใช้ในช่วงกระแส 800 – 1,500 A และใช้อิเลคโตรดได้หลายชนิด, มีระยะห่างระหว่างอิเลคโตรดกับชิ้นงานต่ำและเกิดการ ARC Blow น้อย
ระบบการป้อนอิเลคโตรด
สำหรับการเชื่อมกึ่งอัตโนมัติจะใช้ระบบ CV เพื่อควบคุมให้อัตราการป้อนมีค่าคงที่ และระบบ CC จะใช้เพื่อตรวจสอบค่าแรงดันในการอาร์คและปรับความเร็วในการป้อนของอิเลคโตรดเพื่อรักษาให้แรงดันในการอาร์คมีค่าคงที่ ระบบการป้อนอิเลคโตรดแบบง่าย ๆ จะทำโดยการหมุนปุ่มปรับเพื่อปรับอัตราเร็วในการป้อนให้คงที่ ซึ่งมีการใช้ทั้งในระบบ CV และ CC สำหรับระยะการป้อนที่ควบคุมด้วย Microprocessor จะใช้กับแบบ CV เท่านั้น
รูปที่ 2 Wire feeder (source : www.directindustry.com )
ชุดหัวเชื่อมสำหรับการเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ จะประกอบด้วยมอเตอร์ขับตัวป้อนและม้วนของเส้นลวด นอกจากนั้นยังมีหัวเชื่อม (Torch) และหัวพ่นฟลักซ์ ติดตั้งอยู่ด้วย มอเตอร์ป้อนลวดจะมีเกียร์ทดเพื่อปรับอัตราเร็วในการป้อนให้อยู่ที่ 8 – 235 มม/วินาที หัวเชื่อมจะมี Guide tubeเพื่อประคองเส้นลวดเข้าสู่ปลายหัวเชื่อมในบริเวณที่จะเกิดการอาร์ค
1. อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนที่ ซึ่งความเร็วในการเคลื่อนที่ไม่ควรเกิน 45 มม/วินาที (ในแนวรอยเชื่อม)
2. ชุดดูดฟลักซ์กลับมาใช้ เพื่อใช้ ฟลักซ์ ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยจะทำหน้าที่ดังนี้
2.1 กำจัด ฟลักซ์ ที่ไม่ละลาย และ Slag บริเวณหลังรอยเชื่อม
2.2 คัดแยก Slag ที่ละลายแล้วและวัสดุที่มีขนาดใหญ่ออก
2.3 กำจัดสารแม่เหล็กออก
2.4 หมุนเวียน ฟลักซ์ ที่ยังใช้ได้กลับสู่ Hopper
2.5 รักษาความร้อนแก่ ฟลักซ์ ใน Hopper เพื่อลดความชื้น
ระบบควบคุมตำแหน่ง
เนื่องจากการเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ จะมีข้อจำกัดคือจะเชื่อมได้ในแนวราบเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยในการเปลี่ยนตำแหน่งชิ้นงานเพื่อให้ได้แนวเชื่อมตามที่ต้องการ
วัสดุที่เกี่ยวข้อง โลหะที่ใช้เชื่อม โดยทั่ว ๆ ไป ได้แก่
- Carbon Steel ที่มี % ของ C สูงถึง 0.29 %
- Low Alley Steel (Yield Strength สูงถึง 690 M/A)
- Chrcmium – Molyhdenum Steel (0.5 – 9 % ของ Cr, 0.5 – 1 % Mo)
- Stainless Streel
- โลหะผสมนิกเกิล
อิเลคโตรด
อิเลคโตรดที่ใช้จะเป็นลวดเปลือยที่ผลิตจากโลหะผสมและเก็บในม้วน สำหรับลวดที่เป็นเหล็กจะมีการเคลือบผิวด้วยทองแดง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอายุการใช้งาน , ลดการสึกหรอที่ท่อนำอิเลคโตรดและ เพิ่มการนำไฟฟ้า ขนาดของอิเลคโตรดจะมีตั้งแต่ 1.6 – 6.4 มม. ตามพิกัดของกระแสที่สามารถรับได้ดังแสดงตารางที่ 1
(source : http://www.twi.co.uk)
ฟลักซ์ (Flux)
จะเป็นเม็ดของแร่ที่มีส่วนผสมหลายอย่างตามคุณสมบัติตามที่ต้องการดังนี้
Fused Flux ถูกผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิดผสมรวมกันในเตาไฟฟ้า จากนั้นจะถูกเตรียมให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ
ข้อดีของ Fused Flux
- มีความเป็นเนื้อเดียวกันสูง
- ไม่ดูดความชื้น
- สามารถ Recycle ได้ง่ายเนื่องจากมีขนาดสม่ำเสมอ
- กำจัดสารที่ไม่เกี่ยวข้องออกได้ง่าย
ข้อด้อย
- การเติมสารป้องกันการเกิด Oxidation และ Ferro alloy ระหว่างการผลิตทำได้ยาก ซึ่งจะเกิดการสูญเสียมาก
- ใช้อุณหภูมิสูงในการผลิต
Bened Flux ถูกผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิดที่เป็นผงเละนำมาผสมกันโดยใช้ Potassium Silicate และ/หรือ Sodium silicate ในการเชื่อมให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นจะทำการผสมกันและอบโดยใช้อุณหภูมิต่ำกว่าแบบ Fused Flux และผลิตให้ได้รูปร่างตามต้องการ
ข้อดี
- ง่ายต่อการเติมสารป้องกันการเกิด Oxidation และ Ferro alloy
- ใช้สีเป็นตัวแยกประเภท
- ทำให้ชั้นของ ฟลักซ์ มีความหนามากขึ้นในขณะเชื่อม
ข้อด้อย
- มีแนวโน้มที่จะดูดความชื้นได้ง่าย
- อาจเกิดแก๊ส จาก Slag ที่หลอมเหลว
- ในการคัดแยกอาจทำให้ฟลักซ์เปลี่ยนคุณสมบัติเนื่องจากส่วนผสมที่มีขนาดเล็กถูกกำจัดออก
Mechanical Mixed Flux จะใช้ Fused ฟลักซ์ และ Bended ฟลักซ์ ผสมกันในสัดส่วนที่ต้องการ
ข้อดี
– มีคุณสมบัติตามที่ต้องการในกระบวนการเชื่อมชนิดพิเศษ
ข้อเสีย
- เกิดการแยกตัวขึ้นระหว่างการขนส่ง, เก็บรักษาและการจัดการ
- เกิดการแยกตัวขี้นใน Recovery system
- ส่วนผสมไม่คงที่
ขนาดของอนุภาคและการกระจายตัว
ลักษณะและขนาดรวมทั้งการกระจายตัวที่สม่ำเสมอของฟลักซ์มีความสำคัญต่อการป้อนและการนำกลับมาใช้ใหม่, ระดับของกระแสที่ใช้, รูปร่างและความสม่ำเสมอของรอยเชื่อม โดยปกติจะใช้กระแสเชื่อมเพิ่มขึ้นเมื่อฟลักซ์มีขนาดเล็กลงและเปอร์เซ็นต์ของอนุภาคที่มีขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตจะระบุขนาดของฟลักซ์ด้วยเลข 2 ส่วน โดยที่ส่วนแรกจะระบุขนาดตะแกรง( Mesh) ที่อนุภาคที่ต้องการสามารถผ่านไปได้ ส่วนที่สองคือขนาดของ Mesh ที่อนุภาคส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านได้
ในการปฏิบัติงานมีตัวแปรหลายอย่างที่มีผลต่อการเชื่อมดังนี้
- กระแสที่ใช้
จะมีผลกระทบต่ออัตราการหลอมเหลวของอิเลคโตรด, ความลึกของรอยเชื่อมและการหลอมเหลวของชิ้นงานถ้าหากเพิ่มกระแสจะมีแนวโน้มให้ตัวแปรต่าง ๆ มีค่าสูงขึ้น แต่ถ้ากระแสสูงเกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองอิเลคโตรดและรอยเชื่อมที่ได้ใหญ่เกินไปและอาจเกิดการบิดตัวในชิ้นงานมากขึ้นและอาจมีการเกิด Undercut (ดูในบทความกระบวนการเชื่อมไฟฟ้า – SMAW) แต่ถ้ากระแสน้อยไปจะเกิดรอยเชื่อมที่ไม่สมบูรณ์ขึ้นและเกิดการอาร์คที่ไม่สม่ำเสมอ
- แรงดันในการเชื่อม
ในการปรับแรงดันจะปรับตามค่าความยาวในการอาร์คระหว่างอิเลคโตรดและชิ้นงานถ้าหากแรงดันเพิ่มความยาวในการอาร์คจะมากขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าแรงดันลดลงความยาวในการอาร์คก็จะลดลง ค่าแรงดันจะมีผลกระทบต่ออัตราการสิ้นเปลืองของอิเลคโตรดไม่มากเหมือนกับกระแสที่ใช้ แต่ค่าแรงดันจะมีผลกระทบต่อรูปร่างของรอยเชื่อมและลักษณะพื้นที่หน้าตัดของรอยเชื่อมมากกว่า ถ้าหากทำการเพิ่มแรงดันในการเชื่อมในขณะที่กระแสและความเร็วในการเชื่อมคงที่จะทำให้
- รอยเชื่อมแบนและกว้างขึ้น
- เปลืองฟลักซ์มากขึ้น
- ความพรุนในรอยเชื่อมลดลง
- ความแข็งแรงลดลง
- มีการดึง Alloy ออกจาก ฟลักซ์มากขึ้น
- ถ้าแรงดันในการอาร์คสูงเกินไปจะทำให้
- รอยเชื่อมมีขนาดกว้างและเกิดการแตกร้าว
- กำจัด Slag ออกจากรอยเชื่อมได้ยากขึ้น
- รูปร่างรอยเชื่อมโค้งซึ่งอาจเกิดการแตกร้าวขึ้น
- เกิด Undercut ที่ขอบของรอยเชื่อม
- การลดแรงดันลงจะช่วยเพิ่มการซึมลึกและลดการเกิด Arc Blow แต่ถ้าแรงดันต่ำเกินไปจะทำให้รอยเชื่อมแคบและยากต่อการกำจัด Slag ออกไป
ความเร็วในการเชื่อม
ถ้าเพิ่มความเร็วในการเชื่อมจะทำให้
- ความร้อนที่ใช้ในการเชื่อมต่อหนึ่งหน่วยความยาวของรอยเชื่อมลดลง
- ปริมาณของโลหะที่เติมลงไปในรอยเชื่อมต่อหน่วยความยาวของรอยเชื่อมลดลงซึ่งจะทำให้ความแข็งแรง ลดลง ซึ่งจะทำให้รอยเชื่อมมีขนาดเล็กลง
ค่าความเร็วในการเชื่อมจะมีผลต่อการซึมลึกมากกว่ากระแสที่ใช้ ถ้าความเร็วสูงเกินไปจะทำให้เกิด Under Cut, Arc blow, รอยเชื่อมมีความพรุนมากขึ้น
ถ้าความเร็วต่ำเกินไปจะทำให้
- รอยเชื่อมจะโค้งซึ่งจะเกิดการแตกร้าวขึ้น
- เกิดการอาร์คที่รุนแรงเกินไป
- Slag จะละลายเข้าสู่รอยเชื่อม และรอยเชื่อมจะมีลักษณะหยาบ
ขนาดของอิเลคโตรด
ถ้าให้ค่ากระแสที่ใช้ในการเชื่อมคงที่ ขนาดอิเลคโตรดจะมีผลต่อรูปร่างของรอยเชื่อมและความลึกของรอยเชื่อม โดยทั่วไปนิยมใช้อิเลคโตรดที่มีขนาดเล็กกับเครื่องแบบกึ่งอัตโนมัติเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนที่และยังนิยมใช้สำหรับเครื่องเชื่อมแบบหลายหัวเชื่อมเชื่อม ในกรณีที่ชิ้นงานมีปัญหาในการ Fit Up นอกจากนั้นขนาดของอิเลคโตรดยังมีผลต่ออัตราการสิ้นเปลืองของอิเลคโตรดโดยที่อิเลคโตรดที่มีขนาดเล็กจะมีความเข้มของกระแสและสิ้นเปลืองเร็วกว่าอิเลคโตรดที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามอิเลคโตรดที่มีขนาดใหญ่จะสามารถรับกระแสได้สูงกว่าอิเลคโตรดที่มีขนาดเล็ก
การต่อเชื่อมอิเลคโตรด (Electrede Extension)
ในกรณีที่ค่าความเข้มของกระแสที่มากกว่า 125 A/mm2 จำเป็นต้องมีการต่ออิเลคโตรดให้ยาวเพิ่มขึ้นรองรับกับอัตราการหลอมเหลวของอิเลคโตรดที่เพิ่มขึ้น แต่จะทำให้เกิดความร้อนที่อิเลคโตรดมากขึ้น เนื่องจากค่าความต้านทานที่มีค่ามากขึ้น โดยทั่วไปนิยมต่อเพิ่มที่ความยาว 8 เท่าของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของอิเลคโตรด เพื่อให้สามารถเริ่มต้นทำการเชื่อมได้ดี ในการต่อเชื่อมจะใช้ Contact Tube เชื่อมอิเลคโตรดเข้าด้วยกัน ค่าความยาวสูงสุดสำหรับการต่อเชื่อมอิเลคโตรดเหล็กแข็งในกระบวนการ การเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ มีดังนี้
- ความยาวสูงสุดไม่เกิน 3 นิ้ว สำหรับอิเลคโตรดขนาด 5/64 , 3/32 , 1/8 นิ้ว (2.0, 2.4และ 3.0 มม.)
- ความยาวสูงสุดไม่เกิน 5 นิ้ว สำหรับอิเลคโตรดขนาด 5/32 , 3/16 , 7/32 นิ้ว (4.0, 5.0และ 6.0 มม.)
ความกว้างและความลึกของฟลักซ์
ความกว้างและความลึกของชั้นฟลักซ์ จะมีผลต่อรูปร่างและความแข็งแรงของรอยเชื่อม ถ้าชั้นของฟลักซ์มีความลึกมากจะทำให้แก๊สที่เกิดจากการเชื่อมระบายออกได้ยาก เป็นผลให้รอยเชื่อมเกิดการบิดตัวมากกว่าปกติ ถ้าชั้นของฟลักซ์มีความลึกน้อยเกินไปจะไม่สามารถปกคลุมบริเวณที่เกิดการอาร์คได้ทั่วถึงจะทำให้เกิด flashing และรอยเชื่อมกระเด็นออกมาข้างนอก (spattering) ซึ่งจะทำให้แนวเชื่อมไม่สวยและอาจเกิดรูพรุนขึ้นได้ ในการหาค่าความหนาที่เหมาะสมจะทำโดยการค่อยๆ เพิ่มความสูงของฟลักซ์อย่างช้า ๆ จนกระทั่งไม่เกิด flashing และเสียงที่เกิดจากการจุดระเบิดเงียบลง
ในขั้นตอนของการนำฟลักซ์กลับมาใช้นั้นควรทำในบริเณพื้นที่รอบแนวเชื่อมในระยะ12 นิ้วให้สะอาดก่อนการเชื่อมเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปปะปนกับฟลักซ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ในกรณีที่เกิดมีฟลักซ์ที่หลอมละลายแล้วปะปนเข้ามาควรทำการคัดแยกโดยใช้ตะแกรงที่มีความโตไม่เกิน 1/8 นิ้ว (ประมาณ 3 มม.) เพื่อกำจัดฟลักซ์ดังกล่าวออก โดยปกติแล้วฟลักซ์ที่บรรจุมาจากผู้ผลิตจะมีการป้องกันความชื้นมาอย่างดี ถ้าหากเราเก็บอยู่ในจุดที่มีค่าความชื้นมาก ก่อนนำมาใช้ต้องทำการอบเพื่อไล่ความชื้นออกก่อนเพื่อป้องกันการเกิดรูพรุนในแนวเชื่อม
ชนิดของรอยเชื่อม
ชนิดของรอยเชื่อมโลหะที่เกิดจากรอยต่อชนิดต่าง ๆ จะมีชื่อเรียกดังนี้
- รอยเชื่อมสันนูน (BEAD WELD) มีลักษะดังรูปที่ 3 ซึ่งมีลักษณะ
เป็นสันนูนขนาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับการส่ายลวดเชื่อมหรือขนาดของลวดเชื่อม ใช้ในงานเชื่อมพอกผิว พอกเสริมชิ้นงานให้สูงขึ้น
รูปที่ 3 แสดงลักษณะของรอยเชื่อมสันนูน
- รอยเชื่อมร่อง (GROOVE WELD) มีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะซึ่งการใช้งานจะอยู่กับความหนาและการบากงานแบบต่าง ๆ แสดงในรูปที่ 4 ซึ่งรอยเชื่อมชนิดนี้จะเชื่อมโดยเปิดระยะรอยต่อชิ้นงาน ซึ่งจะบากหน้างานหรือไม่บากก็ได้
รูปที่ 4 แสดงลักษณะของรอยเชื่อมร่อง (GROOVE WELD)
- รอยเชื่อมมุม (FILLET WELD) เป็นรอยเชื่อมที่เกิดจากการวางชิ้นงานสองชิ้นให้ตั้งฉากซึ่งกันและกันหรือเกยกัน ในการเชื่อมจะเชื่อมแนวเดียวหรือหลายแนวก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบรอยเชื่อมและความหนาของงาน ดังแสดงในรูปที่ 5 ซึ่งรูปร่างของแนวเชื่อมจะเป็นรูปสามเหลี่ยม
รูปที่ 5 แสดงลักษณะของรอยเชื่อมมุม (FILLET WELD)
- รอยเชื่อมอุด (PLUG WELD) เป็นรอยเชื่อมที่เกิดจากการเชื่อมอุดรูและอุดร่องบนชิ้นงานที่วางในลักษณะเกยกัน โดยเจาะรูเฉพาะชิ้นงานแผ่นบน แล้วทำการเชื่อมให้เต็มรูรอยเชื่อมชนิดนี้เหมาะสำหรับงานที่ไม่ต้องการให้ขอบงานมีรอยเชื่อม ดังแสดงในรูปที่ 6
รูปที่ 6 ลักษณะของรอยเชื่อมอุด (Plug Weld)
วิธีปฏิบัติงานเชื่อม
ในงานเชื่อมควรมีการเตรียมงานก่อนที่จะเชื่อมเพื่อให้ชิ้นงานที่ได้มีคุณภาพตามต้องการดังต่อไปนี้ การเตรียมขอบและรอยต่อ ควรพิจารณาถึงระยะห่างของแผ่นโลหะที่จะนำมาต่อกันและสภาพของขอบแผ่นโลหะที่จะนำมาต่อกัน
การประกอบรอยเชื่อม (Joint fit up)
ก่อนที่จะประกอบชิ้นงานเข้าด้วยกันควรจะต้องทำให้ระยะห่างของแผ่นโลหะที่จะเชื่อมมีความสม่ำเสมอเพื่อให้แนวเชื่อมได้ระดับ นอกจากนี้ความหนาของแนวเชื่อมควรมีค่าสม่ำเสมอ
การเสริมด้านหลังแนวเชื่อม (Weld Backing)
ในการเชื่อมที่มีปริมาณมาก ๆ นั้น อาจเกิดการเสียเวลาเพื่อใช้ในการรอให้รอยเชื่อมที่หลอมเหลวเกิดการแข็งตัว จึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการรองรับโลหะที่หลอมเหลวไม่ให้กระจายออกไปด้านหลังแนวเชื่อม ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
- Backing Strips
- Backing Welds
- Copper Backing Bars
- Flux Backing
- Backing Tapes
สองวิธีแรกนั้น วัสดุที่ใช้รองด้านหลังจะกลายเป็นเนื้อเดียวกับรอยเชื่อม ส่วนสามวิธีหลังสามารถถอดวัสดุรองด้านหลังออกได้ Backing Strips วัสดุที่ใช้รองด้างหลังจะต้องใกล้เคียงกับแผ่นโลหะที่ใช้เชื่อมBacking Welds จะใช้วิธีเชื่อมปิดร่องด้านตรงข้ามแนวเชื่อม
รูปที่ 7 Backing bar & Backing weld ( source : http://deltaschooloftrades.com )
Copper backing bars จะใช้แท่งทองแดงรองด้านหลังแนวเชื่อม แต่แท่งทองแดงจะไม่รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับรอยเชื่อมเนื่องจากมีค่าการนำความร้อนสูง และในการใช้งานต้องใช้แท่งทองแดงที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดการละลายของทองแดงเข้าไปในรอยเชื่อม ในบางครั้งอาจทำการป้อนน้ำหล่อเย็นเข้าไปภายในท่อทองแดงด้วยก็ได้
Flux backing วิธีนี้จะทำการป้อนฟลักซ์ที่ความดันปานกลางด้านหลังรอยเชื่อมและมีแผ่นที่ทำจากวัสดุยืดหยุ่นได้กั้นกลางระหว่างฟลักซ์และด้านตรงข้ามแนวเชื่อมอีกทีหนึ่งเพื่อป้องกันการสูญเสียฟลักซ์
รูปที่ 8 Flux Backing (source : www.esabna.com)
การขึ้นรูป (fixturing)
มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษา ระดับ(alignment) ของชิ้นงานให้คงที่ตามที่ต้องการในระหว่างที่ทำการเชื่อม เช่นการใช้ Clamp ยึด , การเชื่อมแต้มที่ชิ้นงาน, การเชื่อมชิ้นงานที่มีลักษณะเอียง มุมเอียงของชิ้นงานจะมีผลต่อรูปร่างของรอยเชื่อม โดยปกติแล้วเราจะทำการเชื่อมใต้ฟลักซ์หรือการเชื่อมซับเมิร์จ กับชิ้นงานที่อยู่ในแนวราบ อย่างไรก็ตามในบางครั้งจำเป็นต้องทำการเชื่อมชิ้นงานที่มีการเอียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถที่จะเคลื่อนที่อิเลคโตรดได้ 2 ลักษณะ คือ เคลื่อนที่ลง(Downhill) และเคลื่อนที่ขึ้น (Uphill) ซึ่งจะทำให้รูปร่างของรอยเชื่อมมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
Uphill Welding แรงโน้มถ่วงของโลกจะทำให้โลหะในบ่อหลอมโลหะไหลย้อนกลับมาด้านหลังอิเลคโตรดและโลหะที่บริเวณขอบจะไหลมารวมตัวกันตรงกลาง ถ้าหากทำการเพิ่มมุมเอียงของชิ้นงานจะทำให้รอยเชื่อมมีความหนามากขึ้น แต่ความกว้างของรอยเชื่อมจะแคบลง โดยทั่วไปจะให้ค่ามุมเอียงสูงสุดไม่เกิน 6o สำหรับกระแสที่ไม่เกิน 800 A ถ้ าหากกระแสมากกว่า 800 A ควรทำการลดมุมเอียงลง สำหรับการเชื่อมแบบ downhill จะมีกลไกการเกิดตรงข้ามกับแบบ uphill
รูปที่ 9 Uphill welds & Downhill welds (source : http://www.diggiemoon.com)
ตำแหน่งของลวดเชื่อม
ในการกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมของลวดเชื่อมมี 3 ปัจจัยจะต้องพิจารณา :
1. Alignment ของลวดเชื่อมกับจุดต่อ
2. มุมของการเอียงจากแนวจุดต่อ (lateral direction)
3. ทิศทางของลวดเชื่อม (pushing angle) หรือ (pulling angle)
Pushing angle คือทิศทางของการเชื่อมไปข้างหน้าและอิเลคโตรดทำมุมแหลมกับระนาบที่ทำการเชื่อม Pulling angle อิเลคโตรดทำมุมป้านระนาบที่ทำการเชื่อม
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการวางอิเลคโตรดแบบ Pulling angle จะมีการซึมลึกที่สม่ำเสมอมากกว่า ,ความสูงของรอยเชื่อมสูงกว่าแต่มีความกว้างของรอยเชื่อมน้อยกว่า Pushing angle
รูปที่ 10 มุมของอิเลคโตรด (source : http://www.diggiemoon.com)
ในการเชื่อมหลายชนิด สามารถวางตำแหน่งของอิเลคโตรดได้ดังต่อไปนี้
1. Butt Joint Welding
a. การจัดตำแหน่ง (Alignment ) — ดูรูปที่ 11
b. การเอียงด้านข้าง – ไม่มี
c. การวางลวดเชื่อมตามแนวตั้งจะทำให้การเชื่อมมีเสถียรดีเมื่อเชื่อมชิ้นงานที่มีความหนาตั้งแต่ 0.5 นิ้ว แต่สำหรับโลหะบาง (14-16 เกจ) จุดที่ทำการเชื่อมแบบย้อนกลับ (welding wire point backward) ที่ทำมุม 25-45 องศา จากแนวตั้ง จะช่วยให้แรงดันไฟฟ้ามีเสถียรภาพ
รูปที่ 11 Effect of Alignment in Butt Joint Welding (source : www.esabna.com)
รูปที่ 12 Effect of Alignment in Horizontal Fillet Welding
2. Horizontal Fillet Welding
a. การจัดตำแหน่ง (ดูรูป. 12) เส้นศูนย์กลางของอิเลคโตรดไม่ควรจะอยู่ใน centerline ของแนวเชื่อม แต่ควรจะให้แนวศูนย์กลางของอิเลคโตรดอยู่ต่ำกว่าแนวศูนย์กลางของรอยเชื่อมเป็นระยะทาง 1 ใน 4 ของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของอิเลคโตรด การตั้งระยะห่างมากขึ้นจะใช้เมื่อต้องการให้รอยเชื่อมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าหากวางตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดการเชื่อมที่ไม่ดีนัก
b. เอียงข้าง ในการทำรอยเชื่อมสันในแนวนอน ( horizontal fillet welds ) ควรให้อิเลคโตรดเอียง 20-45 องศาจากแนวตั้ง
มุมที่แน่นอนจะพิจารณาจากอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองปัจจัยดังต่อไปนี้
- ระยะห่างของหัวเชื่อมกับชิ้นงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื่อมไปยังส่วนที่มีโครงสร้างเป็นแผ่น ดังแสดงในรูป 13
- ความหนาของชิ้นงานที่ใช้ในการขึ้นรูป ถ้าเป็นไปได้ควรเชื่อมรอบแรกก่อน
c. ทิศทางของลวดเชื่อมแบบ (pulling angle ) หรือ (pushing angle ) สำหรับรอยเชื่อมที่มีขนาดใหญ่การเปลี่ยนทิศทางของลวดเชื่อมจะไม่มีผลต่อรอยเชื่อมมากนัก แต่สำหรับรอยเชื่อมที่มีขนาดเล็ก ควรวางลวดเชื่อมในทิศทางของลวดเชื่อมแบบย้อนกลับ โดยให้มีมุมอยู่ระหว่าง 25-45 องศาจากแนวตั้ง จะช่วยให้แรงดันไฟฟ้ามีเสถียรภาพดีขึ้น
รูปที่ 13 Lateral Tilt Determined by Nozzle Clearance Here the welding wire angle depends on the projection of the flange over the weld and the diameter of nozzle or jaw assembly used. The 118-in. clearance allows for minor lateral adjustments of the welding wire.
3. Fillet Welding in Flat Position
a. การจัดตำแหน่ง — ดูรูปที่ 14
b. วางตำแหน่งลวดในแนวตั้ง (มุมเอียงด้านข้างเท่ากับศูนย์) บางครั้งถ้าต้องการให้มีการซึมลึกที่สมบูรณ์ จะต้องทำการเอียงเล็กน้อยจากแนวตั้ง (ดูรูปที่ 14b)
c. ทิศทางของลวดเชื่อม จะ เหมือนกับ Horizontal Fillet Welding
รูปที่ 14 Alignment for Fillet Welds in Flat Position
4. Circumferencial welds
ในการเชื่อมชิ้นงานที่เป็นวงกลมโดยเฉพาะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง น้อยกว่า 8 นิ้ว จะมีลักษณะแตกต่างจากการเชื่อมในแนวราบ เนื่องจากโลหะที่หลอมเหลวจะไหลออกจากวัสดุ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
- ให้วางลวดเชื่อมที่ 11 นาฬิกาในกรณีที่หมุนตามเข็มนาฬิกา หรือ 1 นาฬิกาในกรณีที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา ถ้าเป็นการเชื่อมภายนอก
- ให้วางลวดเชื่อมที่ 5 นาฬิกาในกรณีที่หมุนตามเข็มนาฬิกา หรือ 7 นาฬิกาในกรณีที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา ถ้าเป็นการเชื่อมภายใน
รูปที่ 15 Circumferential Welds
การเริ่มต้นเชื่อม
วิธีการที่ใช้เพื่อเริ่มต้นการเชื่อมในกระบวนการเฉพาะจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเช่น เวลาที่ต้องใช้ในการเริ่มต้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการปรับตั้งและเวลาในการเชื่อม, จำนวนของชิ้นที่ทำการเชื่อม และตำแหน่งในการเริ่มต้นเชื่อมบนชิ้นงาน วิธีการต่างๆที่มีอยู่ได้ถูกอธิบายไว้ด้านล่าง
a. Pointed Wire Start เริ่มต้นด้วยจี้อิเลคโตรดที่ตัดปลายให้คมไปที่ชิ้นงาน ซึ่งจะเกิดการอาร์คขึ้นและเริ่มหลอมละลายโลหะ
b. Scratch Start ทำการเคลื่อนที่ลวดเชื่อมลงจนกว่าจะมีประกายไฟเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับชิ้นงาน การเริ่มต้นด้วยวิธีนี้นั้น ตำแหน่งในการเริ่มต้นจะไม่สำคัญและสามารถที่จะเริ่มต้นที่จุดไหนก็ได้ เช่นการทำรอยเชื่อมเส้นรอบวงในถังหรือท่อขนาดเล็ก
c. Fuse Ball Start วางแผ่นโลหะที่สานเป็นเส้นใยและม้วนเป็นวงกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 มม. ดังรูปที่ 15 ลงบนชิ้นงาน แล้วค่อยๆทำการหย่อนปลายของอิเลคโตรดลงไปยัง fuse ball จนกว่าปลายของอิเลคโตรดจะจมลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดการอาร์คขึ้น
รูปที่ 16 Fuse ball
d. การเริ่มจากบ่อหลอมเหลว การเชื่อมอาจจะเริ่มต้นได้อย่างง่ายดายโดยการจุ่มอิเลคโตรดลงในบ่อหลอมเหลว
e. Wire Retract Start วิธีที่ใช้โดยการหย่อนอิเลคโตรดจนสัมผัสกับชิ้นงาน และปลายของอิเลคโตรดถูกปกคลุมด้วยฟลักซ์ จากนั้นระบบการป้อนอิเลคโตรดจะดึงอิเลคโตรดกลับขึ้นมาจากชิ้นงานซึ่งจะทำให้แรงดันไฟฟ้าในการอาร์คจะเพิ่มขึ้น ซึ่งระบบการป้อนอิเลคโตรดจะป้อนอิเลคโตรดเข้าสู่ชิ้นงานและทำการเพิ่มความเร็วในการป้อนจนชื้นงานเริ่มหลอมเหลว
บรรณานุกรม : WELDING HANDBOOK EIGHTH EDITION AWS