♦ ลวดเซาะร่องแบบ แอร์-คาร์บอนอาร์ค ใช้เซาะแนวเชื่อมสแตนเลสได้หรือไม่

ในการเชื่อมโลหะ บางครั้งตรวจพบว่าในแนวเชื่อมมีจุดบกพร่อง จำเป็นต้องมีการเซาะแนวเชื่อมนั้นออกเพื่อเชื่อมซ่อม การใช้ลวดเซาะแบบแอร์-คาร์บอนอาร์ค เป็นวิธีการทำงานที่รวดเร็ววิธีหนึ่ง ที่ใช้บ่อยในงานเชื่อมประกอบโลหะกลุ่มเหล็ก ประเด็นข้อสงสัยคือ สามารถใช้วิธีการเซาะแนวเชื่อมแบบแอร์-คาร์บอนอาร์คนี้ กับการเชื่อมสแตนเลสได้หรือไม่ ?
หากเรารู้จักกระบวนการเซาะแนวเชื่อมแบบนี้ดี จะทราบว่าสิ่งสำคัญและขาดเสียมิได้เลยของการเซาะด้วยวิธีแอร์-คาร์บอนอาร์คนั้น คือแท่งลวดเซาะที่ทำจากผงคาร์บอนอัดนั่นเอง ทีนี้ลองย้อนนึกกลับไปครับว่า คาร์บอนมีอิทธิพลอย่างไรต่อโลหะ ?
การเซาะแนวเชื่อมออกด้วยวิธีแอร์-คาร์บอนอาร์คนี้ ใช้การอาร์คระหว่างแท่งคาร์บอนกับชิ้นงาน เมื่อบริเวณจุดที่ทำการอาร์คหลอมละลาย ก็ใช้อากาศอัดเป่าโลหะที่หลอมเหลวออกไป แต่ในระหว่างที่ลวดเซาะอาร์คกับชิ้นงานก็จะเกิดการตกค้างของคาร์บอนส่วนหนึ่งบริเวณรอยเซาะ หมายความว่ารอยเซาะมีการเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่ผิวให้มากกว่าเดิม ซึ่งการเพิ่มปริมาณคาร์บอนบนผิวโลหะคือการทำคาร์บูไรซิ่ง (Carburizing) หรือการทำให้ผิวโลหะแข็งขึ้นโดยการเติมคาร์บอนนั่นเอง
นี่คือประเด็นครับ จริงๆ แล้วธาตุคาร์บอนนั้นเป็นธาตุที่ต้องจำกัดปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมสแตนเลส (จึงต้องมีลวดเชื่อมทีมีรหัส L ไงครับ เช่น 308L, 316L) เพราะคาร์บอนจะเป็นตัวจับโครเมี่ยมในเนื้อสแตนเลส เพื่อให้เป็นโครเมี่ยมคาร์ไบด์ (Cr23C6) จะเห็นว่าคาร์บอน 6 อะตอม สามารถรวมตัวกับโครเมี่ยมได้ถึง 23 อะตอมเลยทีเดียว
ทีนี้ เมื่อทำการเซาะแนวเชื่อมสแตนเลสด้วยวิธีแอร์-คาร์บอนอาร์ค จะทำให้บริเวณที่เซาะนั้นเกิดการปนเปื้อนของคาร์บอน เมื่อทำการเชื่อมซ่อมต่อไปก็จะเกิดการตกผลึกของโครเมี่ยมคาร์ไบด์ในบริเวณนั้น ทำให้บริเวณที่ทำการเซาะแต่เดิมนั้นขาดคุณสมบัติการเป็นสแตนเลส เนื่องจากปริมาณโครเมี่ยมเหลือน้อย เพราะแปรสภาพเป็นคาร์ไบด์ไปหมดแล้ว หากนำชิ้นงานนี้ไปใช้งาน ก็จะไม่สามารถทนต่อการกัดกร่อนได้ตามที่ควรจะเป็น
นอกจากปริมาณคาร์บอนตกค้างบนชิ้นงานแล้ว ยังมีเรื่องของปริมาณไนโตรเจนจากอากาศอัด ที่ใช้เป่าน้ำโลหะหลอมเหลวอีก ธาตุไนโตรเจนอาจจะถูกกักอยู่ในสแลกหรือเศษโลหะแข็งที่ติดอยู่บริเวณขอบรอยเซาะ ไนโตรเจนนี้เป็นธาตุสำคัญในการทำให้เกิดเฟสออสเทนไนท์ในสแตนเลส เมื่อทำการเชื่อมต่อไปไนโตรเจนก็จะดูดซึมเข้าแนวเชื่อม และไปลดปริมาณเฟอร์ไรท์ในเนื้อสแตนเลสลงในที่สุด (ออสเทนไนท์มากขึ้นเนื่องจากไนโตรเจน ทำให้เฟอร์ไรท์ลดลง)
แต่ในการเชื่อมสแตนเลส จำเป็นต้องมีเฟอร์ไรท์ครับ โดยเฉพาะการเชื่อม 308L และ 316L เพราะเฟอร์ไรท์เป็นตัวช่วยลดการเกิดการแตกร้าวในขณะแข็งตัว (Solidification Cracking) หากแนวเชื่อมมีเฟอร์ไรท์น้อยเกินไปก็จะแตกร้าวได้ง่าย
จริงๆ แล้วมีคำแนะนำหลายอย่างเกี่ยวกับการใช้ลวดคาร์บอนสำหรับการเซาะแนวเชื่อมสแตนเลส เช่น AWS C5.3 – Recommended Practices for Air Carbon Arc Gouging and Cutting หรือในคู่มือการใช้งานของบริษัทผู้ผลิตลวดเซาะร่อง เป็นต้น เบื้องต้นผู้ใช้งานควรใช้เทคนิคการเซาะที่ถูกต้อง ทั้งมุมการเดินแนวเซาะ ระยะการจับลวด หรือการรักษาทิศทางของลมอัดให้เป่าใต้ลวดเซาะตลอดเวลา ดังแสดงในรูป
นอกจากการใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการเซาะแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำความสะอาดหลังจากการเซาะ เพื่อขจัดคาร์บอนและเศษสแลกที่ตกค้างอยู่ในรอยเซาะโดยการใช้การเจียร โดยทำการเจียรรอยเซาะจนกระทั่งเห็นเนื้อโลหะมีความมันเงาแล้วจึงทำการเชื่อมต่อไป ก็จะช่วยลดปัญหาจากคาร์บอนลงได้
มีการศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบต่อความต้านทานการกัดกร่อนของแสตนเลส ระหว่างการเตรียมรอยต่อโดยใช้แอร์-คาร์บอนอาร์ค (ทำความสะอาดอย่างดีก่อนเชื่อม) กับการเจียรแบบปกติ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม พบว่าอัตราการกัดกร่อนจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากมีปริมาณคาร์บอนตกค้างอยู่ในรอยเซาะ
สำหรับประเด็นข้อซักถามเรื่อง สามารถใช้วิธีการเซาะแนวเชื่อมแบบแอร์-คาร์บอนอาร์ค กับการเชื่อมสแตนเลสได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า สามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องมีขั้นตอนการควบคุมดูแลเรื่องความสะอาด และการขจัดคาร์บอนตกค้างและขจัดเศษสแลกที่อยู่บริเวณแนวเซาะออกให้หมดเสียก่อนครับ
ท้ายสุดนี้ แนะนำลวดคาร์บอนที่ใช้สำหรับเซาะร่องครับ ยี่ห้อเทอร์มาเทค (Thermatech) ยี่ห้อนี้ดี มีทองแดงเคลือบอย่างดี เงาและนำไฟฟ้าดีมาก อัดคาร์บอนแน่น ไม่เปราะหักง่าย อาร์คนิ่ม เซาะเร็ว ของดีๆ อย่างนี้ ลองใช้ดูนะครับ
Products Department ; Thermal Mechanics Co.,Ltd.