เลเซอร์มาร์คกิ้ง แบบยูวีเลเซอร์ ไฟเบอร์เลเซอร์ และ ซีโอทูเลเซอร์แตกต่างกันอย่างไร ?
โดย ชัชชัย อิบบุบาตร
ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บจก. เทอร์มอล แมคศานิคส์
เลเซอร์แต่ละประเภทมีคุณลักษณะเฉพาะตัว เหมาะสำหรับวัสดุและงานแต่ละแบบ
แม้ว่าเครื่องเลเซอร์นั้นจะใช้ เทคโนโลยีเลเซอร์แบบเดียวกัน แต่สามารถให้คุณภาพ กำลัง
และรองรับการใช้งานที่ต่างกันได้แล้วคุณจะทราบได้อย่างไรว่าคุณควรใช้เลเซอร์แบบใด ?
ในปัจจุบัน เครื่องจักรเลเซอร์มีบทบาทสำคัญอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเลเซอร์สำหรับการตัดอโลหะหรือโลหะ เครื่องเลเซอร์สำหรับการเชื่อม เครื่องเลเซอร์สำหรับการมาร์ค แกะสลัก หรือเขียนเครื่องหมายด้วยราคาของเครื่องจักรเลเซอร์ที่ลดลงมาถึงระดับที่ผู้ใช้หรือผู้ประกอบการสามารถจับต้องได้อย่างไม่ยากนักในปัจจุบัน ทำให้สามารถพบเห็นเครื่องจักรเลเซอร์มีใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จนถึงการทำงานอดิเรกในบ้านพักอาศัย
ในบทความนี้จะกล่าวถึงข้อแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีเลเซอร์ของเครื่องเลเซอร์มาร์ค (Laser Marking) ที่ใช้เทคโนโลยีแบบยูวีเลเซอร์ (UV Laser)ไฟเบอร์เลเซอร์ (Fiber Laser) และซีโอทูเลเซอร์ (CO2 Laser) ว่ามีความแตกต่างกันในเชิงของการใช้งานเพียงใด และเหมาะสมกับการใช้งานประเภทใด แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงข้อแตกต่างของเครื่องเลเซอร์มาร์ค แต่ละแบบ ขอให้ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของแสงเลเซอร์ก่อน ดังนี้
เลเซอร์ (Laser) เป็นอักษรที่ย่อมาจากคำว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation โดยการกำเนิดแสงเลเซอร์นั้นมีหลักการพื้นฐานคือการกระตุ้นหรือเพิ่มพลังงานให้ตัวกำเนิดแสง จนทำให้อะตอมในตัวกำเนิดแสงเกิดการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสง ดังนั้น คำว่า Laser อาจจะให้ความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า แสงที่ได้จากการขยายพลังงานแสงโดยการกระตุ้นให้มีการปลดปล่อยแสงในลักษณะของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และลักษณะทางฟิสิกส์ที่ทำให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแต่ละแบบแตกต่างกันก็คือ ความยาวคลื่น (Wave Length) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้มีอยู่รอบตัวเรา ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น คลื่นวิทยุ ไมโครเวฟ หรือ เรดาห์ เป็นต้น
แสงเลเซอร์ เป็นแสงที่จัดอยู่ในกลุ่มของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นกัน ดังนั้นการแยกประเภทของเลเซอร์นอกจากจะแยกด้วยลักษณะของตัวกำเนิดแสงเชิงกายภาพแล้ว* วิธีหนึ่งที่จะสามารถแบ่งแยกประเภทของเลเซอร์ คือการแบ่งด้วยความยาวคลื่นของเลเซอร์นั่นเอง โดยการแบ่งแยกด้วยความยาวคลื่นแสงนี้ ทำให้สามารถแยกเลเซอร์ได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มแสงเลเซอร์แบบอุลตร้าไวโอเลท (Ultraviolet Laser) 2. กลุ่มแสงเลเซอร์แบบที่มองเห็นได้ (Visible Laser)** และ 3. กลุ่มแสงเลเซอร์แบบอินฟราเรด (Infrared Laser) ดังข้อมูลในตารางที่ 1
*ตัวกำเนิดแสงเลเซอร์สามารถแยกตามลักษณะทางกายภาพ เช่น ตัวกำเนิดแสงแบบของแข็ง ของเหลว และก๊าซ
** แสงเลเซอร์แบบที่มองเห็นได้ Visible Laser) เช่นแสงเลเซอร์ที่มีแสงสีต่าง ๆ เช่น เลเซอร์พ้อยต์เตอร์ สีแดง สีเขียว เป็นต้น
ตารางที่ 1. ประเภทของเลเซอร์แบ่งตามความยาวคลื่น
ประเภทของเลเซอร์ | ความยาวคลื่น |
แสงเลเซอร์แบบอุลตร้าไวโอเลท (Ultraviolet Laser) | 266 – 370 นาโนเมตร |
แสงเลเซอร์แบบที่มองเห็นได้ (Visible Laser) | 400 – 700 นาโนเมตร |
แสงเลเซอร์แบบอินฟราเรต (Infrared Laser) | 700 – 1,000,000 นาโนเมตร |
*หมายเหตุ แสงเลเซอร์แบบอุลตร้าไวโอเลท และ แสงเลเซอร์แบบอินฟราเรด มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นแสงใช้ด้วยตาเปล่า
จากการแบ่งประเภทของแสงเลเซอร์ตามที่กล่าวมาแล้วนั้นจึงทำให้เราสามารถแบ่งประเภทเครื่องเลเซอร์มาร์คได้โดยเครื่องเลเซอร์มาร์คที่ใช้เทคโนโลยีแบบยูวีเลเซอร์ (ความยาวคลื่นประมาณ 355 นาโนเมตร) เป็นแสงเลเซอร์แบบอุลตร้าไวโอเลท ส่วนไฟเบอร์เลเซอร์ (ความยาวคลื่นประมาณ 1064 นาโนเมตร) และ CO2 เลเซอร์ (ความยาวคลื่นประมาณ 10600 นาโนเมตร) ทั้งสองประเภทนี้ จะเป็นแสงเลเซอร์แบบอินฟราเรดนั่นเอง
อย่างไรก็ตามเรื่องเลเซอร์แต่ละประเภทอาจจะมีค่าความยาวคลื่นที่ไม่คงที่ตายตัวเช่นเครื่องไฟเบอร์เลเซอร์ อาจจะมีความยาวคลื่นที่ 1060 1070 หรือ 1090 นาโนเมตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเจือธาตุเข้าไปในสายไฟเบอร์ การใช้ความยาวคลื่นแสงที่ต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ผู้ซื้อและผู้ผลิตสามารถทำข้อตกลงระหว่างกัน ให้ผลิตเครื่องที่มีความยาวคลื่นแสงตามที่ผู้ซื้อต้องการได้
ความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์ที่ต่างกันนี้ มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการดูดซับพลังงานแสงของวัสดุ กล่าวคือ วัสดุแต่ละประเภทจะมีความสามารถการดูดซับแสงที่ความยาวคลื่นแสงต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากันวัสดุที่เป็นโลหะบางชนิด เช่นเหล็ก สแตนเลส หรือ ทองแดง มีความสามารถในการดูดซับแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นช่วง 1064 นาโนเมตรได้ดีกว่าแสงเลเซอร์ ที่มีความยาวคลื่นช่วง 10600 นาโนเมตร จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมไฟเบอร์เลเซอร์จึงเหมาะกับการมาร์ควัสดุที่เป็นโลหะเหล่านี้ได้ดีกว่า CO2 เลเซอร์ แต่การใช้ CO2 เลเซอร์หรือ UV เลเซอร์ จะเหมาะกับการมาร์ควัสดุเช่นที่โปร่งแสง เช่น อะคริลิค แก้ว หรืออินทรีย์วัตถุ เช่น กระดาษ หนัง ไม้ ได้ดีกว่าไฟเบอร์เลเซอร์ เป็นต้น หากพิจารณาตามรูปที่ 1 จะเห็นว่าวัสดุแต่ละประเภทจะมีความสามารถในการดูดซับแสงที่ความยาวคลื่นต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน
รูปที่ 1 ความสามารถในการดูดซับแสงที่ความยาวคลื่นต่าง ๆ ของวัสดุแต่ละชนิด
จากเหตุผลเรื่องความสามารถในการดูดซับพลังงานแสงของวัสดุนี้ ทำให้สามารถแยกลักษณะหรือรูปแบบการใช้งานของเครื่องเลเซอร์มาร์คแต่ละแบบได้ดังนี้
เครื่องเลเซอร์มาร์คแบบยูวีเลเซอร์
โดยส่วนมากแล้วเครื่องยูวีเลเซอร์มาร์ค จะใช้กำลังเลเซอร์ต่ำ (ประมาณ 3 – 5 วัตต์) ดังนั้นการใช้เลเซอร์มาร์คด้วยยูวีเลเซอร์ จะมาร์ควัสดุได้โดยที่ไม่ทำให้เกิดการเสียหายของผิววัสดุรอบ ๆ รอยมาร์ค ให้รอยมาร์คที่คมชัด ต่างจากไฟเบอร์เลเซอร์และ CO2 เลเซอร์ ที่มีกำลังสูงและอาจทำให้เกิดรอยไหม้ที่ขอบตัวอักษรที่ทำการมาร์ค จึงเหมาะสำหรับการมาร์คอินทรีย์วัตถุที่ไวต่อการเผาไหม้ เช่น กระดาษ สิ่งทอ เปลือกผลไม้ เปลือกไข่ หนังสัตว์ และอนินทรีย์วัตถุ เช่น ซองใส่ขนมพลาสติคทุกชนิด สายยาง เทฟลอน แก้ว ซิลิโคน เป็นต้น
รูปที่ 2 ตัวอย่างงานมาร์คด้วยยูวีเลเซอร์
เนื่องจากยูวีเลเชอร์มาร์ค มีความยาวคลื่นประมาณ 355 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่สั้นกว่าไฟเบอร์และ CO2 เลเซอร์มาก ยูวีเลเซอร์ให้โฟตอนที่มีพลังงานสูงในช่วงคลื่นอุลตร้าไวโอเลทและสามารถทำลายพันธะเคมีในวัสดุ จึงทำให้ผิววัสดุเกิดร่องรอยมาร์คจากกระบวนการที่ไม่ใช้ความร้อน จึงไม่เกิดการเปลี่ยนรูปหรือเสียหายจากความร้อนที่ชั้นผิววัสดุและบริเวณใกล้เคียงของพื้นผิวที่ทำการมาร์ค ทำให้สามารถมาร์ควัสดุได้หลากหลายมากกว่าระบบไฟเบอร์หรือ CO2 เลเซอร์ปัจจุบัน เครื่องยูวีเลเซอร์มาร์ค มีขนาดเล็กลง สามารถใช้ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ ไม่จำเป็นต้องใช้การระบายความร้อนด้วยน้ำแบบสมัยก่อน หากดูตัวเครื่องจากภายนอกจะมีลักษณะเหมือนกับเครื่องไฟเบอร์ และ CO2 เลเซอร์มาร์คจนเกือบจะไม่มีข้อแตกต่าง ยูวีเลเซอร์มาร์คสามารถทำการมาร์ควัสดุโปร่งแสง เช่น แก้ว กระจกใส หรืออะคริลิคใสได้มีความละเอียดและสามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ดี ทำให้เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดหรือเที่ยงตรงสูง อย่างไรก็ตาม ราคาของเครื่องยูวีเลเซอร์มาร์ค ยังสูงกว่าไฟเบอร์และ CO2 อยู่มาก และข้อจำกัดของยูวีเลเซอร์คือ ไม่สามารถมาร์ควัสดุให้เกิดร่องรอยที่มีความลึก (Engraving) เหมือนกับระบบไฟเบอร์หรือ CO2 เลเซอร์ได้
รูปที่ 3 เครื่องยูวีเลเซอร์มาร์ค
เครื่องเลเซอร์มาร์คแบบไฟเบอร์เลเซอร์
เครื่องไฟเบอร์เลเซอร์มาร์คให้ความยาวคลื่นที่ 1064 1070 หรือ 1090 นาโนเมตร เป็นช่วงคลื่นที่โลหะส่วนมากสามารถดูดซับพลังงานแสงได้มาก จึงเหมาะสำหรับการมาร์ควัสดุที่เป็นโลหะได้ดีสามารถทำการมาร์คได้ด้วยความเร็วสูง และยังสามารถมาร์คบนวัสดุได้อีกหลากหลาย เช่น พลาสติคบางชนิด กระดาษเคลือบสี มีการใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโลหะ การทำเนมเพลท งานด้านกราฟิกทั่วไป งานทำเครื่องหมายบาร์โค้ด หรือ QR โค้ด เครื่องแบบไฟเบอร์เลเซอร์มาร์คเป็นเครื่องที่ต้องการการบำรุงรักษาน้อย ใช้ระบบการระบายความร้อนด้วยอากาศ มีความยืดหยุ่นและใช้งานง่าย โดยทั่วไปผู้ผลิตชุดกำเนิดเลเซอร์จะกำหนดอายุการใช้งานประมาณไว้ที่ประมาณหนึ่งแสนชั่วโมง และด้วยราคาที่ต่ำลงจากอดีต จึงเป็นเครื่องเลเซอร์มาร์คที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
รูปที่ 4 เครื่องไฟเบอร์เลเซอร์มาร์ค
พลังงานแสงที่ได้จากไฟเบอร์เลเซอร์ อยู่ในช่วงคลีนอินฟราเรดหรือคลื่นความร้อน เมื่อแสงเลเซอร์กระทบกับผิววัสดุจะทำให้ผิวของวัสดุบริเวณนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางเคมีและทางกายภาพ การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเกิดจาความร้อนของแสงเลเซอร์ทำให้ผิววัสดุบริเวณที่แสงกระทบนั้นระเหยออกไป จึงเป็นการเปิดผิวให้เห็นส่วนที่ลึกลงจากผิวด้านบน หรือกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ เป็นการลอกผิวเคลือบวัสดุออกด้วยความร้อนจากเลเซอร์นั่นเอง หากปรับกำลังของเลเซอร์สูงขึ้นหรือทำการมาร์คซ้ำ ๆ ที่จุดเดิม ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ผิววัสดุระเหยออกมากขึ้นจนเกิดเป็นรอยกัดเซาะลงไปในเนื้อวัสดุคล้ายกับการแกะสลัก โดยจะสังเกตหรือตรวจสอบได้ง่ายด้วยสายตาหรือการสัมผัสด้วยมือ บางครั้งอาจจะเรียกกระบวนการมาร์คที่เกิดรอยลึกเช่นนี้ว่าการแกะลายด้วยเลเซอร์ หรือ Laser Engraving
รูปที่ 5 การใช้ไฟเบอร์เลเซอร์มาร์คชิ้นงานโลหะ
ซ้าย: การลอกสีผิวเคลือบด้วยเลเซอร์ ทำให้เห็นเนื้อโลหะสแตนเลสใต้สีเคลือบเป็นตัวอักษรขวา: การมาร์คเลเซอร์ซ้ำ ๆ หลายครั้งด้วยกำลังสูง ทำให้เกิดการกัดเซาะลงในเนื้อชิ้นงานเหมือนการแกะสลักด้วยเลเซอร์ (Laser Engraving)
นอกจากการมาร์คโดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้วความร้อนจากไฟเบอร์เลเซอร์ยังสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของผิววัสดุได้อีกด้วย วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีกับวัสดุโลหะที่สามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศได้ง่าย เช่น สแตนเลสหรือไทเทเนียม โดยเมื่อยิงแสงเลเซอร์ไปยังจุดที่ต้องการ ความร้อนจากแสงเลเซอร์จะทำให้โลหะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและทำปฏิกิริยาทางเคมี กับออกชิเจนในอากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของผิววัสดุเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีดำ สีม่วง สีน้ำเงิน เป็นต้น การเกิดปฏิกิริยาทางเคมีนี้ไม่ทำให้เกิดการกัดเซาะลงในเนื้อวัสดุ ทำให้ได้การมาร์คที่เรียบเนียนสวยงามเหมือนกับการพิมพ์ภาพด้วยหมึก โดยสีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ของเลเซอร์ เช่น ค่าพัลส์ ความถี่แสง หรือกำลังของเลเซอร์ อย่างไรก็ตาม เครื่องไฟเบอร์เลเซอร์แบบปกติทั่วไป (เครื่องชนิด Q Switch) จะไม่สามารถปรับค่าพารามิเตอร์ได้มากนัก จึงอาจจะมาร์คผิววัสดุได้เพียงแค่สีดำเท่านั้น หากต้องการมาร์คผิววัสดุให้เป็นสีสันต่าง ๆ นั้นต้องใช้เครื่องไฟเบอร์เลเซอร์ชนิดพิเศษ เรียกว่าไฟเบอร์เลเซอร์ระบบ Master Oscillator Power Amplifier (MOPA) เป็นเครื่องที่สามารถปรับค่าพารามิเตอร์ได้แบบละเอียด และเป็นเครื่องที่มีราคาสูงกว่าเครื่องแบบ Q Switch ทั่วไป
รูปที่ 6 การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของผิววัสดุ จากความร้อนของเลเซอร์ทำให้เกิดสีบนผิวชิ้นงานโดยไม่เกิดการกัดเซาะ
ซ้าย: การมาร์คสีดำด้วยเครื่องไฟเบอร์เลเซอร์แบบ Q Switch
ขวา: การมาร์คแบบหลายสีด้วยเครื่องไฟเบอร์เลเซอร์แบบ MOPA
เครื่องเลเซอร์มาร์คแบบ CO2 เลเซอร์
CO2 เลเซอร์มาร์ค ให้ความยาวคลื่นที่ 10600 นาโนเมตร เนื่องจากวัสดุที่เป็นโลหะส่วนมากไม่ดูดซับคลื่นแสงช่อง CO2 เลเซอร์ ดังนั้นระบบ CO2 เลเซอร์นั้นจึงไม่เหมาะกับการมาร์คบนวัสดุโลหะ ความยาวคลื่นแสงที่สูงของ CO2 เลเซอร์ ทำให้วัสดุอินทรีย์ดูดซับพลังงานแสงได้ง่าย เครื่อง CO2 เลเซอร์มาร์ค จึงเหมาะสำหรับการมาร์ควัสดุจำพวก หนังสัตว์ ยาง ไม้กระดาษ แก้ว และ เซรามิก เป็นต้น
รูปที่ 7 ตัวอย่างงานมาร์คด้วย CO2 เลเซอร์
พลังงานแสงที่ได้จาก CO2 เลเซอร์ อยู่ในช่วงคลื่นอินฟราเรดหรือคลื่นความร้อนเหมือนกับไฟเบอร์เลเซอร์ เมื่อแสงเลเซอร์กระทบกับผิววัสดุ จะทำให้ผิวของวัสดุบริเวณนั้นเกิดการดูดซับความร้อนและระเหยออกไปเช่นเดียวกัน เป็นการเปิดผิวให้เห็นส่วนที่ลึกลงจากผิวด้านบน หากปรับกำลังของเลเซอร์สูงขึ้นหรือทำการมาร์คซ้ำ ๆ ที่จุดเดิม ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ผิววัสดุระเหยออกมากขึ้นจนเกิดเป็นรอยกัดเซาะลงไปในเนื้อวัสดุคล้ายกับการแกะสลัก (Engraving) ซึ่งเป็นการทำงานลักษณะเช่นเดียวกับไฟเบอร์เลเซอร์ และหากเครื่องสามารถจ่ายกำลังเลเซอร์ได้สูง จะมีความร้อนสูงพอที่จะทำให้วัสดุขาดออกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการผลิตเครื่องตัดวัสดุด้วย CO2 เลเซอร์ สำหรับงาน อะคริลิคหรือพลาสติค ออกมาใช้งานอย่างแพร่หลายอีกด้วย
ในกรณีของการมาร์คกิ้ง นิยมใช้ CO2 เลเซอร์มาร์คกับวัสดุจำพวกไม้ กระดาษ กล่องบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ เช่นกระเป๋า เข็มขัด เป็นต้น ซึ่งอินทรีย์วัตถุเหล่านี้ไม่สามารถทำการมาร์คด้วยไฟเบอร์เลเซอร์ได้ ไฟเบอร์เลเซอร์มีความยาวคลื่นสั้นกว่า เมื่อคลื่นแสงของไฟเบอร์เลเซอร์ผ่านเข้าไปยังโครงสร้างของวัสดุอินทรีย์ จะมีการดูดซับแสงได้ไม่ดีพอ เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอของเนื้อวัสดุ ทำให้ควบคุมการดูดซับพลังงานแสงไม่ได้ จะเกิดการก่อตัวของความร้อนและเกิดการลุกไหม้ในที่สุด หากเป็นการมาร์ควัสดุประเภทไม้ หรือกระดาษ ด้วยเลเซอร์ไฟเบอร์จะเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากไม้และกระดาษเป็นวัสดุเชื้อเพลิงเป็นอย่างดี
รูปที่ 8 เครื่อง CO2 เลเซอร์มาร์ค
รูปที่ 9 การใช้เลเซอร์มาร์ค ทำการมาร์คบนวัสดุไม้
บน: การมาร์คด้วยเครื่องไฟเบอร์เลเซอร์
ล่าง: การมาร์คด้วยเครื่อง CO2 เลเซอร์
การเลือกใช้เครื่องเลเซอร์มาร์ค
วัสดุที่ต้องการมาร์ค | UV Laser | Fiber Laser | CO2 Laser |
โลหะ / โลหะเคลือบสี | 2 (1) | 3 | 0 |
การมาร์คสีบนโลหะ | 0 | 3 | 0 |
ไม้ | 3 | 0 | 3 |
หนัง | 3 | 0 | 3 |
กระดาษ | 3 | 0 | 3 |
กระดาษเคลือบสี | 3 | 3 | 3 |
อะคริลิคใส (โปร่งแสง) | 3 | 0 | 2 |
อะคริลิคสี (ทึบแสง) | 3 | 1 | 2 |
พลาสติค | 3 | 3 (1) | 2 |
แก้ว / กระจกใส | 3 | 0 | 2 |
0= มาร์คไม่ได้ 1=มาร์คได้บางชนิด 2= มาร์คได้ดี
กล่าวโดยสรุป การเลือกใช้เครื่องเลเซอร์มาร์คจะขึ้นอยู่กับลักษณะงานหรือวัสดุที่ต้องการทำการมาร์ค โดยพิจารณาจากความสามารถในการดูดชับแสงเลเซอร์ของวัสดุนั้น หากวัสดุมีการดูดซับแสงได้ดี การมาร์คจะให้คุณภาพดี มีความคมชัด สวยงาม เป็นหลักการพิจารณาโดยใช้พื้นฐานทางฟิสิกส์ ในแง่ของการปฏิบัติผู้ใช้อาจจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิเช่น ขนาดพื้นที่การมาร์คที่เครื่องสามารถทำงานได้ ความเร็วในการมาร์ค ขนาดของเครื่อง การระบายความร้อน หรือ ราคาของเครื่อง เป็นต้น ปัจจัยอื่น ๆ เหล่านี้ สามารถสอบถามได้จากผู้จำหน่าย หากต้องการข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท เทอร์มอล แมคคานิส์ จำกัด โทร. 02 759 4795 Email: sales@thermal-mech.com